กรมกิจการผู้สูงอายุ มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การจัดสวัสดิการและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ โดยมียุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เป็นแนวทางการดำเนินงาน มีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และมีชมรมผู้สูงอายุเป็นแกนหลักในการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุ อีกทั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ ที่มีศักยภาพอีกจำนวนมากที่พร้อมจะทำงานเพื่อส่วนร่วม ตลอดจนการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดำเนินการได้โดยตัวผู้สูงอายุหรือหน่วยงาน องค์กรใดเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยพลังและการบูรณาการอย่างใกล้ชิดจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงจะนำไปสู่จุดหมายสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพได้ อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของจำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุย่อมมีผลกระทบต่อสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลายภาคส่วนของสังคมมีความตื่นตัวและเตรียมการด้านนโยบาย รวมทั้งแนวทางแก้ไขเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีพร้อมกับการเป็นสังคมสูงอายุทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การดูแล และระบบสวัสดิการรูปแบบบริการใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุ
วันนี้ (3 มี.ค. 64) นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนขยายผลชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งพฤฒพลัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมเวลาดี จังหวัดอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและเสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุเป็นพฤฒพลัง (Active Aging) สามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถเป็นพลังให้แก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม และสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้สูงอายุ โดยเฉพาะชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นองค์กร ภาคประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมทั้งเป็นกลไกในการเชื่อมโยงปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุกับนโยบายและภารกิจของกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั้งในด้านทักษะ ความรู้ ความสามารถ ทำให้ผู้สูงอายุได้รับการยอมรับและมีคุณค่า จนกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีพฤฒิพลังที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกหน่วยงาน ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงอายุจะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการหนุนเสริมการทำงานระหว่างกันและเป็นพลังสำคัญใน การผลักดันขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกหน่วยงานจะได้นำสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมประชุมฯ ไปส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้สูงอายุในชุมชนและประเทศชาติโดยรวม
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นางสิริวิมล เหมะธุรินทร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุดรธานี นางสาวชลลดา ชนะศรีรัตนกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ นางสาวบุญน้อม งามเชื้อ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น ผู้แทนชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็งในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้แทนชมรมขยายผลในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (8 จังหวัด 31 ชมรม) ผู้แทนสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ประจำจังหวัดอุดรธานี เจ้าหน้าที่ศพส.ขอนแก่น บุรีรัมย์ และนครพนม เจ้าหน้าที่พมจ.อุดรธานี วิทยากร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ พร้อมด้วย นางสาวอัญชนา นิติคุณ นายชาญสิทธิ์ ฤทธิกะลัส และนางกัญนิกา สุมาลี นักพัฒนาอิสระ ที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในการประชุมฯ รวมจำนวนกว่า 90 คน
รูปแบบการประชุมประกอบด้วย 1) การบรรยายให้ความรู้ เรื่อง การรับรองเป็นองค์กรสาถารณประโยชน์ 2) การบรรยายให้ความรู้ เรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุเครืองข่าย ชมรมผู้สูงอายุพฤฒพลัง 3) การแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็น แผนการขับเคลื่อนขยายผลชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งพฤฒพลัง ปัญหา อุปสรรคการขับเคลื่อนขยายผลผู้งอายุเข้มแข็งพฤฒพลัง 4) การนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นการขับเคลื่อนขยายผลชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งพฤฒพลัง ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับรู้ เข้าใจ และเห็นความสำคัญของพลังผู้สูงอายุที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็ง การสานพลังความร่วมมือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ เพื่อนำพาชุมชนและสังคมไทยไปสู่สังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ ต่อไป