“กรมเจ้าท่า” ตอกย้ำเจตนารมณ์ ขับเคลื่อนบุคลากรพาณิชย์นาวี สู่มาตรฐานสากล ในวันชาวเรือโลก
“Day of the Seafarer” วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศสมาชิกภาคีเครือข่าย IMO มั่นใจ คนประจำเรือไทยมีคุณภาพ ความชำนาญสูง เป็นที่ต้องการของตลาดและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบ
โลจิสติกส์ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกและ คณะมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ได้ให้ความสำคัญการพัฒนาบุคลากร คนประจำเรือ เนื่องจากบุคลากรในสาขาดังกล่าว เป็นส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะทางเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างองค์ความรู้และมีมาตรการดูแลกำกับความปลอดภัย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งได้ตอกย้ำเจตนารมณ์ของการมีส่วนร่วมการพัฒนาบุคลากรพาณิชย์นาวี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็น วัน ชาวเรือโลก “Day of the Seafarer” ทุกปีที่ทั่วโลกมีการจัดงานเฉลิมฉลอง ซึ่งไทยได้ร่วมจัดงานวันคนประจำเรือประจำปี 2565 ภายใต้คอนเซ็ป Day of the Seafarer 2022 : Your voyage – then and now, share your journey ที่ IMO กำหนดขึ้นในปีนี้
จากความสำเร็จในการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมเดินเรือ และการบริหารท่าเรือ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี ถือเป็นกลไกสำคัญในการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการปิดน่านฟ้าทำให้การขนส่งทางอากาศชะลอตัวอย่างมาก ทุกประเทศหันมาใช้ระบบการขนส่งทางน้ำมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเดินเรือเติบโตอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะคนประจำเรือ ที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น
กรมเจ้าท่าได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนา การกำกับดูแล และยกระดับมาตรฐานคนประจำเรือให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประเทศสมาชิก IMO ที่ได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแล ทั้งในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ซึ่งเป็นระบบติดตามสถานะเรือไทยที่เดินเรือระหว่างประเทศตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งวางระบบการตรวจสอบความปลอดภัยบริเวณท่าเรือต่าง ๆ เป็นการยกระดับเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ดูแล ความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าทางน้ำและพาณิชย์นาวี ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาการให้บริการเกี่ยวกับการออกประกาศนียบัตรและเอกสารคนประจำเรือ การฝึกอบรมและการสอบความรู้ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดรับกับสถานการณ์อย่างครบวงจร รวมถึงปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ การออกใบประกาศนียบัตร และหลักสูตรกลางของการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนประจำเรือไทยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานสากล
Post Views: 242