แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังร่วมงานแถลงข่าวความร่วมมือ “โครงการเร่งรัดการดำเนินงานลดการใช้อะมัลกัมทางทันตกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” ร่วมกับนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันบรมราชชนก ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ทันตแพทยสภาทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมทันตกรรมเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมทันตกรรมหัตถการ สมาคมทันตแพทย์เอกชน และชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ อาคารวายุภักษ์ เซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งกรมอนามัยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการลดการใช้อะมัลกัมและลดการปลดปล่อยปรอทจากสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการจัดการขยะอะมัลกัมอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) และอีก 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐเซเนกัล และสาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2569

“อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศและการปล่อยสู่ดินและน้ำของปรอทหรือสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ ผ่านการจัดส่งภาคยานุวัติสารให้กับองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ส่งผลให้อนุสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้ บทบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่งของอนุสัญญามินามาตะฯ คือ ภาคีต้องดำเนินมาตรการลดการใช้อะมัลกัมทางทันตกรรม 2มาตรการหรือมากกว่า จากมาตรการที่อนุสัญญากำหนดทั้งสิ้น 9 มาตรการ ปัจจุบันประเทศไทยโดยความร่วมมือของกรมอนามัยและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการลดการใช้อะมัลกัมทางทันตกรรมแล้ว 5 มาตรการ จึงถือได้ว่าประเทศไทยดำเนินการเกินกว่าบทบัญญัติของอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว

ประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศภาคีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เห็นถึงศักยภาพและจัดให้เป็นประเทศต้นแบบเพื่อดำเนินกิจกรรมลดการใช้วัสดุอุดฟันอะมัลกัม ภายใต้อนุสัญญามินามาตะฯ เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมถึง 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การกำหนดวัตถุประสงค์ระดับชาติ เพื่อป้องกันฟันผุ และสนับสนุนการสร้างทันตสุขภาพที่ดี เพื่อลดความต้องการในการบูรณะฟัน ผ่านโครงการส่งเสริมทันตสุขภาพทุกกลุ่มวัย มาตรการที่ 3 ส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือกที่ไม่มีปรอทในการบูรณะฟัน ที่มีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพทางคลินิก เช่น การบูรณะฟันด้วยเทคนิค SMART ในเด็กปฐมวัย หรือในกลุ่มวัยอื่น ๆ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา มาตรการที่ 5 สนับสนุนองค์กรทางวิชาชีพด้านทันตกรรม และสถาบันการศึกษาด้านทันตกรรม เพื่อการศึกษาและฝึกอบรมทันตแพทย์ และนักศึกษาทันตแพทย์ในการใช้วัสดุทางเลือกที่ปราศจากปรอท และส่งเสริมให้มีแนวปฏิบัติการจัดการที่ดีที่สุด มาตรการที่ 8 จำกัดการใช้อะมัลกัมในรูปแบบแคปซูล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกมาตรการที่มีผลทางกฎหมาย ในการยกเลิกการผลิต นำเข้า และส่งออกอะมัลกัมชนิดเม็ดในประเทศไทย และมาตรการที่ 9 สนับสนุนการใช้แนวปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อมในสถานบริการทันตกรรม เพื่อลดการปล่อยสารปรอทลงสู่น้ำ และดิน ผ่านการพัฒนาคู่มือการจัดการขยะติดเชื้อและขยะปนเปื้อนปรอทจากคลินิกทันตกรรม เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้ทันตบุคลากร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2567 กรมอนามัย โดยสำนักทันตสาธารณสุข ยังคงเดินหน้าเร่งรัดการดำเนินงานตามข้อกำหนดในอนุสัญญามินามาตะฯ และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำโครงการดังกล่าว ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยกำหนดกิจกรรมสำคัญ ดังนี้ 1) พัฒนามาตรการลดการใช้วัสดุอุดฟันอะมัลกัมในทุกกลุ่มวัย เน้นกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา 2) พัฒนากลไกการจัดการขยะอะมัลกัมจากคลินิกทันตกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่รับกำจัดขยะอันตราย 3) พัฒนาคลินิกทันตกรรมต้นแบบ
ในการลดการใช้วัสดุอุดฟันอะมัลกัม ส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือก และการจัดการขยะอะมัลกัมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้าน นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ประสานงานระดับชาติของอนุสัญญาดังกล่าว จึงอาศัยกลไกการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ เพื่อให้ประเทศไทยมีการจัดการปรอทที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้มีองค์ประกอบของกรมอนามัยและอีกหลายหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกกฎหมายร่วมด้วย และมีการดำเนินงานโดยสรุป ดังนี้ (1) พัฒนามาตรการทางกฎหมาย เพื่อควบคุมการผลิต นำเข้า และส่งออกปรอทและสารประกอบปรอท รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท และเพื่อห้ามมิให้บางกระบวนการผลิตมีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท ซึ่งรวมไปถึงการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้าน และขนาดเล็ก (2) ปรับค่ามาตรฐานหรือเพิ่มมาตรการ เพื่อควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศ และการปล่อยปรอทสู่ดินและน้ำ จากแหล่งกำเนิดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพื้นที่ปนเปื้อนปรอท (3) เสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดการปรอทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการจัดประชุมชี้แจงและสัมมนา เพื่อให้ความรู้ต่อสาระสำคัญของบทบัญญัติของอนุสัญญามินามาตะฯ และการแก้ไขภาคผนวกอย่างต่อเนื่อง และ (4) เผยแพร่ข้อมูลด้านเทคนิควิชาการที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่มือและแนวปฏิบัติด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกสารทางวิชาการอย่างง่ายในรูปแบบอินโฟกราฟิกผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว