นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธุ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจมาเป็นเวลากว่า 40 ปี และได้พัฒนาอาชีพการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและยกระดับการผลิตให้แก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนเครื่องตรวจคุณภาพน้ำผึ้ง HPLC เพื่อให้บริการตรวจคุณภาพน้ำผึ้งแก่เกษตรกร พร้อมทั้งมอบใบรับรองคุณภาพให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เกษตรกรผลิตน้ำผึ้งคุณภาพดี และสร้างการยอมรับให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังสร้างสินค้าน้ำผึ้งอัตลักษณ์ในพื้นที่ต่างๆ ด้วยความแตกต่างของเกสรในน้ำผึ้งของแต่ละพื้นที่ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าน้ำผึ้ง
นอกจากสินค้าน้ำผึ้งแล้ว ในปัจจุบันแมลงเศรษฐกิจ เช่น จิ้งหรีด และครั่ง เป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากคนทั่วโลกมีเทรนด์รักษาสุขภาพมากขึ้น และมีการผลิตที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดสามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และยังเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ ในส่วนของผลผลิตจากครั่ง ก็เป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก เพราะครั่งได้รับการอนุญาตจาก FDA ของสหรัฐอเมริกา หรือ EFSA ของสหภาพยุโรปให้สามารถนำมาใช้เคลือบผิวเพื่อยืดอายุผลไม้ในอุตสาหกรรมอาหารได้ สามารถนำมาเคลือบเม็ดยา และนำมาใช้เป็นสารสำหรับการผลิตน้ำหอมให้กลิ่นติดทนนาน ส่งผลให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเกษตรกรและผู้สนใจหันมาเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ งานถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรจึงเป็นภารกิจสำคัญ ดังนั้นเนื้อหาที่จะถ่ายทอดความรู้นั้นจะต้องถูกต้องตามหลักวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดการสัมมนาพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2566 ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ในระหว่างวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2566 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้นจำนวน 40 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการ และส่วนกลาง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนาในครั้งนี้ ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจได้อย่างประสบผลสำเร็จ ได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับในสินค้าแมลงเศรษฐกิจ อีกทั้งยังนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนางานส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกัน ตลอดจนเพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายเชิงบูรณาการในการดำเนินงานส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการ และส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร