กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี
เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1.2 แสนราย ล่าสุดจากการสำรวจลูกน้ำยุงลายพบว่าวัดยังเป็นสถานที่ที่มีดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงสุด ซึ่งในช่วงหลังออกพรรษามีเทศกาลบุญที่มีการรวมตัวของประชาชน เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และลอยกระทง อาจเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นได้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคประชาสังคมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ป่วยสะสม 123,081 ราย เสียชีวิต 139 ราย ซึ่งผู้ป่วยในปีนี้พบว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 3.4 เท่า ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ล่าสุด 3,613 ราย และอัตราป่วยตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มอายุ 25-34 ปี แม้จะพบ การรายงานผู้ป่วยลดลง แต่ในบางพื้นที่ยังคงพบการระบาดอยู่ ที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงนี้ประเทศไทยมีเทศกาลบุญต่อเนื่องหลังออกพรรษา เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และลอยกระทง เทศกาลดังกล่าวจะมีประชาชนเข้าวัดทำบุญมากมาย ย้ำการจัดการให้วัดปลอดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และป้องกันยุงลายกัด นอกจากนี้เป็นช่วงเปิดเทอมของสถานศึกษาทั่วประเทศด้วย ซึ่งล่าสุดข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์โดยการสำรวจลูกน้ำยุงลายเพื่อประเมินความเสี่ยงยุงลายในพื้นที่หลัก 7ร. คือ กลุ่มโรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โรงแรม/รีสอร์ท โรงเรือน (บ้าน/อาคาร) โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาลและสถานที่ราชการ พบว่า วัดเป็นสถานที่ที่พบลูกน้ำยุงลายสูงสุด คือร้อยละ 60.9 รองลงมาคือโรงงาน/สถานที่โดยรอบร้อยละ 55.6 และโรงเรียนร้อยละ 46.0 ตามลำดับ จึงเป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ต้องขอให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมมือกันเข้าไปจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เร่งรัดการกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังต่างๆ เช่น ถัง/อ่างน้ำในห้องน้ำ จานรองกระถางต้นไม้ที่ปลูกประดับไว้ แจกันไหว้พระ แจกันพลูด่าง/อ่างบัว ยางรถยนต์เก่าที่จัดเป็นสวนนั่งเล่น และขยะบริเวณโดยรอบ เป็นต้น
นพ.ธงชัย กล่าวว่า “ขอเน้นย้ำเพื่อให้ความรู้ คือ โรคไข้เลือดออกเกิดจากติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ดังนั้นคนคนหนึ่งจะเป็นโรคไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง และหากได้รับเชื้อซ้ำในต่างสายพันธุ์กันจะเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น หากพบผู้สงสัยว่าป่วยไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง ทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลงนานเกิน 2 วัน หน้าแดง ตาแดง ปวดท้องถ่ายดำ มีเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดา ให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกอย่าปล่อยไว้ ให้รีบไปรับการรักษาจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตลงได้ ทั้งนี้ให้ผู้ป่วยป้องกันยุงลายกัดโดยทายากันยุง และรีบกำจัดยุงในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเดงกีต่อให้กับผู้อื่น”
นพ. ธงชัย กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงกระทรวงสาธารณสุขมีชุดตรวจวินิจฉัยเร็วที่สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หากได้รับวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็วก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการช็อกจนทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ สำคัญคือ เมื่อเป็นไข้ห้ามซื้อยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน หรือยาแอสไพริน ทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย ให้ใช้ยาพื้นฐานคือ ยาพาราเซตามอลทานก่อน ทั้งนี้ จากการสอบสวนหาสาเหตุของผู้เสียชีวิตยังพบปัจจัยเสี่ยงที่ต้องย้ำเตือนคือการไปรับการตรวจวินิจฉัยช้าในผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมักมีโรคประจำตัวทำให้เพิ่มความเสี่ยง เช่นโรคตับแข็งจากการติดสุราเรื้อรังในผู้ชาย การอยู่ในช่วงมีประจำเดือนในผู้หญิง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเด็กพบว่าเป็นภาวะอ้วน
ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด จัดการภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ อีกทางเลือกหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทาโลชั่นกันยุง นอนในมุ้ง มีมุ้งลวด ใช้ยาจุดกันยุง และใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ปัจจุบันมีวัคซีนไข้เลือดออก 2 ชนิดที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เป็นวัคซีนทางเลือกที่มีให้บริการในภาคเอกชน โดยกำลังติดตามข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลในภาคสนามจริงเพื่อพิจารณาการใช้เป็นมาตรการร่วมกับการป้องกันยุงลายต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422