EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2564 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งด้านการให้คำปรึกษาและบริการทางการเงินในวิกฤตโควิด-19 ได้ 9,400 ราย วงเงินรวมกว่า 67,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 137,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.62% จากปีก่อน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 87,888 ล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 35% เป็นธุรกิจ SMEs สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 17% และสินเชื่อสนับสนุนการส่งออกและลงทุนของไทยไป CLMV เพิ่มขึ้นกว่า 18% ขณะเดียวกันสามารถควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อ ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อเท่ากับ 3.96% ลดลง 2.41% ทำให้ EXIM BANK มีผลกำไรสุทธิ 712 ล้านบาท
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ EXIM BANK ได้ขยายบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินเพื่อประคับประคองและส่งเสริมธุรกิจส่งออก ลงทุน และที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 137,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,908 ล้านบาท หรือ 8.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 33,772 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 103,637 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 87,888 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เท่ากับ 31,516 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.86% สะท้อนความสำเร็จของ EXIM BANK ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย โดยใช้นโยบาย Dual-track Policy ชูบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” ควบคู่กับ “การเป็นศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)”
ด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 EXIM BANK มีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 96,381 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 62,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,165 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ EXIM BANK สนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพิ่มมากขึ้น โดยครึ่งแรกของปี 2564 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 45,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,903 ล้านบาทหรือคิดเป็น 18.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาด CLMV อาทิ เวียดนาม ที่มีเสถียรภาพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อีกทั้งยังมีความต้องการการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนจำนวนมากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ด้านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน เพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศมีโอกาสชำระเงินล่าช้าหรือปฏิเสธการชำระค่าสินค้า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 96,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5,828 ล้านบาท หรือ 6.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระเงิน รวมถึงการพักชำระหนี้ รวมทั้งยังให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรมหรือสัมมนาออนไลน์ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการประมาณ 9,400 ราย เป็นวงเงินรวมกว่า 67,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ 3.96% โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 5,436 ล้านบาท มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,333 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 226.86% ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 EXIM BANK มีกำไรสุทธิเท่ากับ 712 ล้านบาท
“ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง EXIM BANK ยังคงเดินหน้า ‘ซ่อม’ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้กลับมาแข็งแรงและเดินหน้าต่อได้ ‘สร้าง’ อุตสาหกรรมของประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ด้วยส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และ ‘เสริม’ สมดุลการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดหลักและตลาดใหม่ (New Frontiers) รวมทั้งมุ่งสนับสนุนผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยอย่างครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไม่ว่าในด้านข้อมูลความรู้และเครื่องมือทางการเงิน โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของผู้ประกอบการที่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพื่อรอโอกาสที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอีกครั้งในระยะข้างหน้า” ดร.รักษ์ กล่าว
Post Views: 349