นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดของประเทศ ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของลูกค้าประชาชนเป็นอย่างมาก ธนาคารออมสินได้ออกชุดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งพักหนี้ ลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อ สำหรับมาตรการพักหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระลูกหนี้ธนาคารออมสินที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ โดยให้พักชำระเงินต้น เวลา 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยครึ่งหนึ่ง ส่วนดอกเบี้ยที่เหลืออีกครึ่งธนาคารลดให้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ทั้งบุคคล และ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่รวมลูกค้าสินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐ (PSA) หรือโครงการผ่อนปรนอื่น ๆ ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการผ่านทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน หรือติดต่อธนาคารออมสินในพื้นที่ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หลังครบกำหนดผ่อนผันพักชำระหนี้ครบ 3 เดือนแล้ว ให้ชำระเงินงวดตามสัญญาเดิม หากยังไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินเพื่อหาแนวทางอื่นต่อไป
ส่วนผู้ประสบภัยที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ฉุกเฉิน สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน หรือฟื้นฟูอาชีพ ไม่ต้องมีหลักประกันและไม่มีผู้ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 10,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 15 เดือน โดย 3 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% ต่อเดือน และปลอดชำระเงินงวดนาน 3 เดือน หลังจากนั้นเดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.60% ต่อเดือน สามารถติดต่อขอสินเชื่อที่ธนาคารออมสินสาขาภายใน 30 วันนับตั้งแต่ประสบภัย โดยเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัย สำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่บ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม มีความจำเป็นต้องต่อเติมหรือซ่อมแซมในส่วนที่เสียหาย ให้วงเงินกู้สูงถึง 100% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยลดพิเศษเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.233% ต่อปี ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย 2% ปีที่ 2 – 3 = 3.85% ต่อปี (MRR-2.745%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป = 5.845% ต่อปี (MRR-0.750%)
อนึ่ง ธนาคารออมสิน พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสินในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนมอบถุงยังชีพและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ลูกค้าประชาชนที่ประสบเหตุ พร้อมทั้งเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่รับน้ำอื่น ๆ รวมถึงเตรียมร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่ จัดตั้ง “คลินิกสารพัดซ่อม” เพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด ในการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รถจักรยานยนต์ และอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนสำรวจความต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านต่าง ๆ ต่อไป