ปธ. กสม. ย้ำทุกคนมีบทบาทสำคัญในสังคมในการหวงแหนสิทธิของตัวเองและเคารพสิทธิของผู้อื่นขอสังคมร่วมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติกระตุ้นให้แก้ไขกฎหมายองค์กร ยกเลิกหน้าที่ชี้แจงแทนรัฐ เพื่อคืนสถานะ A ประกันความมั่นใจแก่สาธารณะในความเป็นอิสระ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “เพราะชีวิต คือ สิทธิมนุษยชน” ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เพราะชีวิต คือ สิทธิมนุษยชน” ว่า กสม. จัดงานวันสิทธิมนุษยชนขึ้นทุกปี เพื่อร่วมแสดงพลังแห่งภราดรภาพในการระลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศสภาพ ภาษา ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือความเห็นอื่นใด ซึ่งถือเป็นหัวใจของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปีที่ กสม. ชุดที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และได้ดำเนินการสะสางคำร้องไปมากกว่า 2,000 เรื่องนั้น เราพบกรณีมากมายที่ยืนยันว่า “สิทธิมนุษยชน” เป็นเหมือนอากาศที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่รู้สึก แต่หากเมื่อใดที่ชีวิตขาดซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแล้ว เราก็จะรับรู้ถึงการคุกคาม การขาดความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต อย่างไรก็ดี บางสิทธิอาจมีการปะทะแย้งกัน ซึ่ง กสม. ต้องชั่งน้ำหนักในการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นการให้ข้อเสนอแนะให้กำหนดให้สารเคมี “พาราควอต” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งแม้การใช้พาราควอตในภาคการเกษตรจะเป็นเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 40 แต่มาตรา 55 ก็บัญญัติให้รัฐต้องดูแลและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่กำหนดให้รัฐภาคีรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ ข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องพาราควอต ได้รับการสนองตอบที่ดีจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ประธาน กสม. ยังได้กล่าวถึงการเข้ารับการประเมินเพื่อขอเลื่อนสถานะจาก B เป็น A กับคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(GANHRI) ว่า การได้รับสถานะ A หมายถึงการที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น ๆ ได้รับการยอมรับจากสากลว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หลักการปารีส (Paris Principles) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนด และสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมเป็นกลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากลได้ อย่างไรก็ดี หลังการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 SCA ได้แจ้งมติเลื่อนการพิจารณาการประเมินสถานะของ กสม. ไทยออกไปเป็นเวลา 18 เดือน แม้ว่า กสม. จะมีผลงานในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นที่ประจักษ์ แต่การให้คืนสถานะ A ก็ยังไม่อาจทำได้ด้วยข้อกังวลใจสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก หน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) ที่กำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ในลักษณะเสมือนการแก้ต่างแทนรัฐดังกล่าว อันนำไปสู่ข้อกังวลในเรื่องความเป็นอิสระที่แท้จริงของ กสม. แม้ว่า กสม. จะยืนยันว่าภายใต้การทำหน้าที่นี้ไม่อาจถูกแทรกแซงจากบุคคลหรือหน่วยงานใดได้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ประการที่สอง ประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของ กสม. ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งกฎหมายเดิมเคยกำหนดให้ กสม. ทำหน้าที่นี้ได้ แต่กฎหมายปัจจุบันได้ตัดหน้าที่นี้ออก ทำให้ กสม. ไม่อาจช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่า เร็ว ๆ นี้ วุฒิสภามีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดยเพิ่มหน้าที่และอำนาจให้ กสม. สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนได้ ทั้งนี้ หลังจากที่ กสม. ชุดปัจจุบันพ้นหน้าที่ไปแล้ว ตนขอย้ำและฝากไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และภาคประชาชน ให้ช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนในความเป็นอิสระของ กสม.โดยเร็ว เพื่อให้ กสม. ได้กลับคืนสู่สถานะ A อันจะเป็นศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาชาวโลก

“ในสภาวะที่ทั้งประเทศและโลกกำลังประสบความท้าทายต่อความมั่นคงของมวลมนุษยชาติ ทั้งจากโรคระบาด ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การสู้รบโดยอาวุธ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ฯลฯ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ทุกคนในสังคมผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติไปด้วยกัน คือ การที่เราทุกคนมองเห็นทุกคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ให้ความช่วยเหลือเอื้ออาทรแก่กันเพื่อให้ทุกคนสามารถกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งได้ ดังคำขวัญของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสำหรับวันสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาว่า ‘Recover Better Stand up for Human Rights’ โดยที่รัฐจะต้องคำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ เป็นจริงและเข้าถึงได้สำหรับทุกคนด้วย” นางประกายรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

กสม. ได้มอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2563 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 รางวัล ดังต่อไปนี้
1. สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง
เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่นำมิติสิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชน มาบูรณาการการทำงานในการป้องกัน ดูแล แก้ไขและฟื้นฟูเด็กและเยาวชนภายใต้กระบวนการยุติธรรม ต้นน้ำ คือการป้องกันการกระทำผิด กลางน้ำ คือ การแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และปลายน้ำ คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กและเยาวชนก่อนคืนสู่สังคม พร้อมทั้งติดตามให้ความช่วยเหลือ ประการสำคัญได้นำมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญามาใช้กับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนให้มีโอกาสปรับพฤติกรรมและเพื่อเพิ่มประสิทธิผลด้านการลดการกระทำผิดซ้ำ
2. โครงการสี่หมอชายแดนตาก
เป็นโรงพยาบาลชุมชนของรัฐ ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ระหว่าง (1) โรงพยาบาลอุ้มผาง (2) โรงพยาบาลแม่ระมาด (3) โรงพยาบาลท่าสองยาง และ (4) โรงพยาบาลพบพระ โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสาธารณสุขแก่คนทุกคนในพื้นที่โดยเฉพาะสิทธิในสุขภาวะของคนชายแดนที่เปราะบาง คนด้อยโอกาส ภายใต้หลักคิด “Health for All” คือ การให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิด้านบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม และไม่ควรมีผู้ใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มีการทำงานทั้งเชิงป้องกัน รักษาและเยียวยา ตั้งแต่เกิดจนตาย

3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผู้ขับเคลื่อนให้มีการบรรจุรายวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Studies) ไว้ในหลักสูตร เพื่อให้มีการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยแนวคิดที่ว่าการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และการตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนจะเป็นวิถีทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในสังคมที่มีความเชื่อและศรัทธาที่หลากหลาย โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือการทำงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
4. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์
อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ทำงานส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ มายาวนานกว่า 20 ปี เป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างกลไกการเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์ที่มีคุณภาพ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เน้นการทำงานแบบพหุภาคีระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม สามารถพัฒนาต่อยอดและบูรณาการสิทธิการรักษาของผู้ป่วยเอดส์ให้เข้าระบบของรัฐ เช่น กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ
5. นางอรนุช ชัยชาญ
นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิจิตร
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย
ผู้มุ่งมั่นในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การคุ้มครองเด็กและสตรีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยริเริ่มบูรณาการงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนที่มีจัดตั้งเป็นศูนย์ชุมชนรับแจ้งเหตุ และประสานการทำงานในพื้นที่ ทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ เกิดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคุ้มครองผู้เสียหาย

6. นายเกรียงไกร ไชยเมืองดี
เลขาธิการและผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์เด็ก
ผู้ดำเนินงานด้านสิทธิเด็ก โดยยึดฐานคิดจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มเด็กที่เสียเปรียบในสังคม กลุ่มเด็กเปราะบางในชุมชนพื้นที่ชนบทห่างไกล ริเริ่มและร่วมผลักดันให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันในชุมชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดการยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม โดยเฉพาะการเน้นให้เด็กสามารถเรียนรู้ทักษะชีวิตให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของเด็ก
7. นายสุนทร สุนทรธาราวงศ์
ประธาน มูลนิธิบ้านพระพร
ผู้ดำเนินงานการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้พ้นโทษเป็นเวลากว่า 40 ปี เพื่อหยุดยั้งต้นเหตุแห่งปัญหาการกระทำผิดซ้ำ โดยได้นำแนวทางในการช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัว ด้วยการอบรมพัฒนาชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินการอุปการะเด็กที่เกิดจากแม่ที่อยู่ในเรือนจำและลูกของนักโทษที่พ่อแม่อยู่ในเรือนจำ ด้วยการรับเด็กเหล่านั้นมาดูแลและสนับสนุนการศึกษา ตลอดจนช่วยจัดหางานให้ทำภายหลังการพ้นโทษ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา เรื่อง “ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมเคียงข้างสิทธิมนุษยชน” โดย วิทยากรที่เป็นผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2563 การมอบรางวัลผู้ชนะการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)และการกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษหัวข้อ “การปกป้องสิทธิเด็กในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19” โดย นายชนกันต วิทยศักดิ์พันธุ์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)นอกจากนี้ยังมีการแสดงชุด “สิทธิมนุษยชนลำเพลิน” โดย วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ระดับอุดมศึกษา จากโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน (Youth Standing Up for Human Rights) ประจำปี 2563 ด้วย
ข้อมูลโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ( กสม.)