งานหัวเว่ย คอนเนกต์ (HUAWEI CONNECT) รอบที่ 3 ได้เปิดฉากขึ้นแล้วที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในหัวข้อ “ปลดปล่อยความเป็นดิจิทัล” (Unleash Digital) นำโดยผู้นำในอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรจากภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาคการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสำรวจการปลดปล่อยผลิตภาพเชิงดิจิทัล ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัลของยุโรป และสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นภายในงาน หัวเว่ยได้จัดการประชุมในช่วงบ่ายและอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี ในการสนับสนุนการอนุรักษ์ธรรมชาติในยุโรป พร้อมเปิดตัวรายงานเทคฟอร์เนเจอร์ – โซลูชันส์ อิน โฟกัส (Tech4Nature – Solutions in Focus)  เทคฟอร์เนเจอร์ – โซลูชันส์ อิน โฟกัส พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือเทคฟอร์เนเจอร์ (Tech4Nature) ระหว่างองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กับหัวเว่ย โดยวิเคราะห์แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ นำเสนอรายละเอียด 22 โครงการ ใน 19 ประเทศ

เจมส์ ฮาร์ดคาสเซิล (James Hardcastle) หัวหน้าพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์ประจำองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวว่า “ชุมชนอนุรักษ์เริ่มยอมรับและหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และยังพัฒนาและสร้างวิธีการใหม่ ๆ เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในแง่ความยุติธรรมและการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ”ในระหว่างการประชุม เรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน (Rainforest Connection) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้กล่าวสรุปโครงการเนเจอร์ การ์เดียน (Nature Guardian) ที่ดำเนินการในยุโรปร่วมกับหัวเว่ยและพันธมิตรท้องถิ่นเกี่ยวกับมหาสมุทร พื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศป่าไม้

บัวร์ฮาน ยาซซิน (Bourhan Yassin) ซีอีโอของเรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน กล่าวว่า “เรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน ใช้ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่ขับเคลื่อนโดยหัวเว่ย คลาวด์ เพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพและปกป้องระบบนิเวศทั่วโลก การใช้ประโยชน์จากเสียงทำให้เราติดตามสิ่งมีชีวิตได้หลายพันสายพันธุ์ทั่วโลก และตรวจจับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายได้อัตโนมัติ” ตัวอย่างของโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในยุโรปโดยใช้เทคโนโลยีเสียง ได้แก่ การติดตามฝูงโลมาและวาฬนอกชายฝั่งทางใต้ของไอร์แลนด์ และการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อชีวิตนกและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำของออสเตรีย นอกจากนี้ โครงการเนเจอร์ การ์เดียน ในอิตาลีและกรีซยังได้มุ่งเน้นไปที่การป้องกันการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย การลักลอบล่าสัตว์ และกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ที่สร้างความเสียหาย

นอกจากนี้ มูลนิธิสวิส โปรินิ (Swiss Porini Foundation) ยังได้แนะนำโครงการนำร่องที่ดำเนินการอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและหัวเว่ย มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงบัญชีการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าคุ้มครอง มูลนิธิโปรินิได้พัฒนาการกักเก็บคาร์บอนในป่าโดยอ้างอิงการประมวลผลคลาวด์ บล็อกเชน และภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูง เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการตรวจสอบย้อนหลังของธุรกรรมการกักเก็บคาร์บอนในป่า รับรองการจัดการและการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน  การประชุมดังกล่าวจบลงด้วยการอภิปรายที่ครอบคลุมถึงวิธีที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในยุโรป โดยมีพันธมิตรเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) นักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรอุตสาหกรรม ร่วมสำรวจแผนงานด้านเทคโนโลยีและกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

ผู้เข้าร่วมประชุมยังมีโอกาสเยี่ยมชมบูธนิทรรศการเทคฟอร์ออล เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมความเสมอภาคทางดิจิทัลอื่น ๆ ที่เทคฟอร์ออลดำเนินการอยู่ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นโครงการแรกของโลกในสาขานี้ที่นอร์เวย์ ซึ่งดำเนินการในปี 2564 และ 2565 เพื่อช่วยเหลือปลาแซลมอนแอตแลนติกในธรรมชาติที่ใกล้สูญพันธุ์ โซลูชันนี้ใช้เทคโนโลยีกล้องร่วมกับระบบประตูน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคัดกรองปลาแซลมอนแปซิฟิกสายพันธุ์รุกราน ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านทรัพยากรที่ก้าวร้าวและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยทำการคัดแยกสายพันธุ์รุกรานดังกล่าวลงในถังพักแยก ซึ่งบรรลุผลสำเร็จที่เป็นไปไม่ได้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงโครงการฟรานซ์ ดิจิทรัค (France DigiTruck) โดยเทคฟอร์ออล นำเสนอการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลเพื่อส่งเสริมชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังไม่ได้ทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเทคฟอร์ออลของหัวเว่ยได้ที่https://www.huawei.com/en/tech4all/

ติดตามทวิตเตอร์ของหัวเว่ย เทคฟอร์ออลได้ที่@HUAWEI_TECH4ALL