บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และ กฟผ. ขอขอบคุณชาวขอนแก่นที่พร้อมใจ เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน อย่างเนืองแน่น แสดงพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการฯ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ไปจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวขอนแก่นและทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย
ระหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2563 บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน โดยมี นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถานศึกษา ผู้นำศาสนา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป สนใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ณ หอประชุม 50 ปี โรงเรียนน้ำพองศึกษา อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภออุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น รวมทั้งหมดจำนวน 708 คน มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ อ.น้ำพอง 4 ตำบล ได้แก่ ต.ม่วงหวาน ต.กุดน้ำใส ต.สะอาด ต.น้ำพอง และชาว อ.อุบลรัตน์ 2 ตำบล ได้แก่ ต.โคกสูง ต.บ้านดง รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงและประชาชนทั่วไป
นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญกับชีวิตของมนุษย์ หากไม่มีไฟฟ้าใช้จะทำให้มนุษย์ขาดแสงสว่าง รวมถึงไม่สามารถใช้เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้ โรงไฟฟ้าน้ำพองเดิมจะหมดอายุการใช้งานจึงต้องถูกปลดออกจากระบบในปี 2568 กฟผ. จึงได้เตรียมก่อสร้างโครงการเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าน้ำพองเดิม ในพื้นที่โรงไฟฟ้าปัจจุบัน ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาประเทศ ช่วยลดการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ขอขอบคุณ กฟผ. ที่ได้เปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่และประชาชนที่สนใจได้มาร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หวังว่าประชาชนที่เข้ารับฟังการประชุมในครั้งนี้จะร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นให้ครบถ้วนทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวขอนแก่นมากที่สุด
นางสาวดวงกมล พรหมสุวรรณ ผู้จัดการโครงการ บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลกับประชาชนและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับรายละเอียดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมครบถ้วน เพิ่มเติมจากการจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 สำหรับสิ่งที่ประชาชนยังมีความกังวล อาทิ การควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในการดูแลแหล่งน้ำ การใช้เชื้อเพลิง การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม การจ้างงานท้องถิ่น การพัฒนาด้านสาธารณสุขและการศึกษาในชุมชน และการบริหารงบประมาณกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้ง 2 เวทีนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป
ด้าน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมประชุมและร่วมให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อคิดเห็นต่างๆ ในวันนี้ ซึ่ง กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมความเห็นของทุกท่าน ไปพิจารณาปรับปรุงร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมเหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพองปัจจุบัน ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทั้งด้านระบบส่งไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ก่อสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1 – 2 ในปัจจุบัน ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบในปี 2568 เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขาดหายไป และรักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) โดยโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2568
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างรายงานฉบับนี้ โดยส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ที่ คุณจีรภัทร ประเสริฐสุวรรณ มือถือ 091-4359154 โทรศัพท์ 0-2934-3233-47 ต่อ 513 โทรสาร 0-2934-3248 หรือ บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เลขที่ 39 ซ.ลาดพร้าว 124 ถ.ลาดพร้าว แขวงพลับพลาชัย เขตวังทองหลาง กทม. 10310 หรือ เว็บไซต์ www.cot.co.th