นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ. ได้เข้าร่วมการสัมมนาโครงการวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสีย EURO 6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบรรยากาศ” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ คพ. ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมสัมมนา จำนวน 171 คน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามเทคโนโลยียานยนต์ คือ กลุ่มรถยนต์ EURO 6 กลุ่มรถยนต์ NGV และกลุ่มรถยนต์ EV
นายอรรถพล กล่าวว่า ในการสัมมนาดังกล่าวผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นด้วยที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องการให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ทั้งเรื่องทิศทางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและมาตรการส่งเสริม โดยมีข้อคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม เช่น 1) กลุ่มรถยนต์ EURO 6 เห็นว่าควรบังคับใช้มาตรฐาน EURO 5 ทั้งของรถยนต์และน้ำมันต้องพร้อมกัน เนื่องจากปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน EURO 5 ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องยนต์และอุปกรณ์ลดมลพิษน้อยกว่าการใช้น้ำมันไบโอดีเซล และการติดตั้งตัวกรองเขม่าไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล (Diesel Particulate Filter หรือ DPF) ในรถยนต์เก่าอาจไม่คุ้มค่าเท่ากับการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ใหม่ที่เทคโนโลยีดีกว่า 2) กลุ่มรถยนต์ NGV เห็นว่านโยบายของภาครัฐยังไม่ชัดเจน ความคุ้มค่าในการดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของรถยนต์และสถานีบริการมีต้นทุนที่สูงขึ้น และราคา NGV ไม่สะท้อนต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น และ 3) กลุ่มรถยนต์ EV เห็นว่านโยบายส่งเสริมของภาครัฐไม่ครอบคลุมเรื่องการดัดแปลงรถยนต์เก่าไปเป็น EV ให้มีราคาที่ถูกลง ต้องการให้มีสถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้รถยนต์ และการจัดการกับแบตเตอรี่ใช้แล้วยังไม่มีความชัดเจนและเหมาะสม
“ผลจากการสัมมนา คพ. จะนำไปประมวลเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายสาธารณะด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากภาคการขนส่งต่อไป ทั้งนี้ หากดำเนินการทดแทนรถยนต์เก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลด้วยรถยนต์ EURO 6 เปลี่ยนมาใช้รถ EV รถ NGV และมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำ ส่งผลให้การปล่อยฝุ่น PM2.5 จากไอเสียรถยนต์ลดลงได้กว่า 15 กิโลตัน ภายในปี 2573 ซึ่งแต่ละมาตรการจะได้รับการพิจารณาจาก คพ. ภายใต้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ” นายอรรถพล กล่าว