นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการที่ คพ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียและคุณภาพน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี พบว่า มีฟาร์มหมูจำนวนมากมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐาน และ คพ.ได้ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับประธานศูนย์การเรียนรู้ ตามแนวพระราชดำริบ้านดอยดิน และคณะจากเครือข่ายประชาชนคนรักแม่กลองในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพี่นัองประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน
นายอรรพล กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นำเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) ส่วนกลางและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) กอ.รมน.จังหวัดราชบุรี สำนักงานปศุสัตว์อำเภอจอมบึง และเทศบาลเมืองจอมพล ลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการระบายน้ำทิ้งของแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พบว่า การเลี้ยงสุกรดังกล่าวเข้าข่ายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษการเลี้ยงสุกรประเภท ก (เทียบเท่าสุกรขุนมากกว่า 5,000 ตัว) มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบไบโอแก๊ส ไม่ทราบขนาด จำนวน 1 ชุด และบ่อผึ่งจำนวน 9 บ่อ มีการนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในการรดน้ำไร่อ้อย หน่อไม้ สวนกล้วย และสวนมะนาว จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อสุดท้ายมาตรวจสอบ หากน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งที่กฎหมายกำหนด จะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 82(2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 สั่งให้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้ถูกต้องและจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
นายอรรพล กล่าวว่า หลังจากนั้น ศปก.พล. ได้เข้าตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีฟาร์มหมูปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วยสาธารณะในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง ร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัดราชบุรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 และองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ ซึ่งชาวบ้านร้องเรียนว่าฟาร์มสุกรดังกล่าวได้ปล่อยน้ำเสียและไหลล้นผ่านที่ดินเอกชนจำนวน 2 ราย และไหลลงสู่ลำห้วยสาธารณะ สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงจากกรณีดังกล่าว ศปก.พล.ที่ 8 (ราชบุรี) ได้ประสานทำความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ร้องเรียน และได้ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแจ้งสิทธิโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ทั้งนี้ อบต.ห้วยน้ำพุได้สั่งการให้ฟาร์มดังกล่าวสูบน้ำเสียที่ไหลลงสู่ลำห้วยสาธารณะกลับคืนสู่บ่อบำบัดน้ำเสียของฟาร์มโดยเร็วและ ศปก.พล.ที่ 8 (ราชบุรี) จะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำในลำห้วยสาธารณะเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำต่อไป