นายอรรถพล เจริญชันษา (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากกรณีอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 มีการปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรม คพ. ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าสาเหตุเกิดจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง รั่วไหลซึมลงสู่น้ำใต้ดินมาเป็นระยะเวลานาน และจากการเข้าตรวจสอบ บริษัท ทีเอชเอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด พบว่า การระบายน้ำทิ้งมีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดออกสู่ภายนอก และการประกอบกิจการที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในหลายประการ จึงได้รายงานผลการตรวจสอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราทราบ และผู้ว่าฯ มีคำสั่งให้ บริษัท ทีเอชเอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด หยุดประกอบกิจการชั่วคราว จนกว่าบริษัทฯ จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต และจากผลการตรวจสอบน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบความเชื่อมโยงจากโรงงานดังกล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า เนื่องจากมีบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันและประกอบกิจการในลักษณะเดียวกัน จึงได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) ลงพื้นที่ตรวจขยายผลว่ามีการกระทำผิดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกหรือไม่ และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ศปก.พล. โดย กองตรวจมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัดฉะเชิงเทรา สถานีตำรวจภูธรแปลงยาว อำเภอแปลงยาว และองค์การบริหารส่วนตำบลหัวสำโรง ได้เข้าตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงานที่ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า เป็นโรงงานประกอบกิจการผลิตโมลิบดินัมเข้มข้นด้วยการอบ มีขั้นตอนตอนการผลิตโดยนำโมลิบดินัมเข้มข้น 50% มาอบที่อุณหภูมิ 570 – 680 องศาเซลเซียส โดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง ได้ผลิตภัณฑ์เป็นโมลิบดินัมเข้มข้น 60% มีระบบบำบัดอากาศเสียแบบไซโคลน (Cyclone ) ร่วมกับเครื่องกรองฝุ่นแบบถุงกรอง (Bag Filter) และระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (Wet Scrubber) จำนวน 5 ชุด ระบายอากาศออกทางปล่องความสูง 40 เมตร ระบบฯ เปิดใช้งานตามปกติ และไม่พบเขม่าควันที่ปลายปล่อง ขณะตรวจสอบมีการประกอบกิจการตามปกติ ปฏิบัติงานทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง มีจำนวนคนงาน 39 คน โรงงานมีของเสียและมีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ดังนี้
- น้ำเสียจากระบบบำบัดอากาศเสีย ผู้นำตรวจแจ้งว่ามีจะจัดเก็บไว้ในถัง ถังขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร เพื่อจะนำไปกำจัด แต่จากการตรวจพบถัง จำนวน 2 ถัง พบน้ำเสียมีปริมาณเล็กน้อย ซึ่งโรงงานไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานการได้รับอนุญาตให้กักเก็บน้ำเสียไว้ภายในโรงงาน รวมถึงการนำน้ำเสียไปกำจัดภายนอกโรงงาน ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการ
- ตะกอนขี้เถ้าจากการเผาไหม้ มีการกองไว้ภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548
- ไม่พบการปฏิบัติตามกฎกระทรวงควบคุมการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. 2559
คพ.จะมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมและจังหวัดฉะเชิงเทราในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ให้ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป นายอรรถพล กล่าว