กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยบริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) และบริษัท ซีพี บีแอนด์เอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ขับเคลื่อนโครงการ “ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2564” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 27 ชวนประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ หวังสร้างแรงบันดาลใจพร้อมปลูกจิตสำนึกเยาวชนคนรุ่นใหม่และคนไทยทั้งประเทศอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ให้คงอยู่คู่กันเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ยังคงเดินหน้าดูแลผืนป่าอนุรักษ์และสัตว์ป่า เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า โดยการควบคุมป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิมที่มีอยู่ และดูแลพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ โดยนำเทคโนโลยีระบบติดตามดาวเทียมมาใช้ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พร้อมกลยุทธ์การส่งเสริม กระตุ้น และปลูกจิตสำนึกให้คนไทย มีความรู้สึกหวงแหนและการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนดูแลแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ป่า รวมถึงดำเนินการลดปัญหาขยะในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
กรมอุทยานฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างการตระหนัก สร้างความรักและหวงแหนต่อทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย จึงได้ผสานความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกหน่วยงานช่วยกันรณรงค์ส่งเสริม กระตุ้นและปลูกจิตสำนึก ให้ประชาชนและเยาวชนให้รู้สึกหวงแหนและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า จึงได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ ขับเคลื่อนโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2564 ต่อเนื่องเป็น ปีที่ 27 โดยมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมปลูกจิตสำนึกรักธรรมชาติผ่านภาพถ่ายอันสวยงาม
ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งมั่นสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้และสัตว์ป่าและมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ริเริ่มโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 27 ปี เชื่อมั่นว่าการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้คนไทยสนใจในธรรมชาติและเห็นถึงคุณค่าของป่าไม้และสัตว์ป่า โดยในการประกวดปีนี้ ได้เพิ่มรางวัลสำหรับภาพถ่ายประเภทสัตว์ป่า ‘ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า’ และประเภทป่าไม้ ‘ภาพต้นไม้มีเรื่องเล่า’ ในระดับบุคคลทั่วไปและ เพิ่มหัวข้อพิเศษในการประกวด คือ ‘กล้วยไม้ไทยในธรรมชาติ’ ซึ่งต้องเป็นภาพถ่ายกล้วยไม้พันธุ์ไทยในธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้รู้จักพันธุ์กล้วยไม้ของไทยและถ่ายทอดความสวยงามท่ามกลางธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติ หรือระบบนิเวศนั้นๆ และร่วมอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไทยบางชนิดซึ่งลดน้อยลง จนใกล้จะสูญพันธุ์ และรักษาพิทักษ์ไว้เพื่อจะส่งมอบให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป
ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มธุรกิจโลตัสส์ เอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้น ประเทศจีน กล่าวว่า “โลตัส รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ปีนี้เป็นปีแรก หลังจากได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โลตัส ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมภายในธุรกิจของเราเอง และยังรวมไปถึงการร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับลูกค้าและประชาชนด้วย โลตัส ยินดีอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสได้นำภาพถ่ายที่งดงามจากผู้เข้าร่วมแข่งขัน มาตกแต่งภายในร้านกาแฟ Jungle Café ที่ตั้งอยู่ในสาขาของ Lotus’s go fresh ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘DRINK MORE FOR FOREST’ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างการตระหนักรู้และปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านภาพถ่ายสัตว์ป่าที่สวยงาม ให้ลูกค้าและประชาชนได้ร่วมกันปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าของเราส่งต่อให้กับรุ่นลูกหลานสืบไป”
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นมีส่วนร่วม อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างสมดุลระบบนิเวศ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้ทุกชีวิตบนโลกอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในภาวการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้พวกเราทุกคนต้องหันมาใส่ใจ ช่วยกันฟื้นฟูและดูแลโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริษัทฯ จึงได้สานต่อการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งป่าบกและชายเลน รวมถึงร่วมสนับสนุนกิจกรรมโครงการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความเป็นเลิศ ทางธุรกิจและการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “กลุ่มทรู ได้นำศักยภาพผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร ดำเนินนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการประกวดภาพถ่ายฯ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ที่กลุ่มทรูได้เป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวดตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทุกภาคส่วน ที่ร่วม
สนับสนุนมาตลอด 27 ปี อีกทั้งกลุ่มทรู ยังได้ต่อยอดนำภาพถ่ายไปผลิตเป็นสปอตในวันสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ความรู้และที่มาของแต่ละวัน เพื่อเผยแพร่ในช่องรายการต่างๆ ของทรูวิชั่นส์ เฟซบุ๊กเพจ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ รายการช่าวช่อง TNN 16 และสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้นำภาพถ่ายไปจัดแสดงนิทรรศการตามหอศิลปะ แกลเลอรี่ และสถานที่จัดแสดง เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติอันงดงาม เกิดความตระหนักสร้างจิตสำนักรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป”
สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดภาพถ่าย คณะกรรมการจะพิจารณาจากการถ่ายทอดแนวคิดและสื่อความหมายของ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ความสวยงาม การจัดวางองค์ประกอบ ตามหลักทัศนศิลป์ ความยาก-ง่าย และเทคนิคการถ่ายภาพโดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสัตว์ป่า และประเภทป่าไม้ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ
- ระดับบุคคลทั่วไป
ภาพประเภทสัตว์ป่า แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย คือ
– ภาพนก เช่น นกชนิดต่างๆ เป็ด ไก่ป่า เหยี่ยว นกยาง เป็นต้น
– ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้าง เสือ กวาง ลิง เลียงผา เป็นต้น
– ภาพสัตว์อื่นๆ เช่น สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ แมลง เป็นต้น
– ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า เป็นภาพที่สื่อให้เห็นถึงการกระทำหรือการแสดงออกของสัตว์ป่าในด้านต่างๆ อาทิ การกิน
อาหาร การเลือกคู่ การต่อสู้ หรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่แปลกน่าประทับใจ หรือน่าสนใจ
ภาพประเภทป่าไม้ แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
– ภาพ Landscape คือ ภาพธรรมชาติในมุมกว้าง แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์และความงดงาม ของธรรมชาติ
โดยรวมเช่น ภาพทิว เขาสายหมอก น้ำตก ทุ่งหญ้า ป่าพรุ ฯลฯ
– ภาพ Macro คือ ภาพธรรมชาติในมุมที่เฉพาะเจาะจง เพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงรายละเอียดความงดงาม เช่น เห็ด
มอส เฟิร์น ดอกไม้ กล้วยไม้ ใบไม้ ฯลฯ
– ภาพต้นไม้มีเรื่องเล่า คือภาพถ่ายต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ
หรือเคยถูกกล่าวถึงในวรรณคดี หรือเป็นต้นไม้ที่หายากและยังคงเป็นต้นไม้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น
โดยในปีนี้จะมีหัวข้อพิเศษ ‘กล้วยไม้ไทยในธรรมชาติ’ เป็นการประกวดภาพถ่ายกล้วยไม้พันธุ์ไทยในธรรมชาติ โดยไม่จำกัดว่าจะถ่ายเป็นแบบ Macro หรือจะถ่ายเป็นภาพมุมกว้าง แต่ต้องถ่ายภาพในสถานที่ธรรมชาติเท่านั้น ไม่อยู่โรงเรือนหรือในที่สถานที่เพาะเลี้ยง
- ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
ภาพประเภทสัตว์ป่า (ไม่แบ่งประเภทย่อย)
ภาพประเภทป่าไม้ (ไม่แบ่งประเภทย่อย)
รางวัลยอดเยี่ยมระดับบุคคลทั่วไป ประเภท ‘สัตว์ป่า’ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประเภท ‘ป่าไม้’ จะได้รับถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล ทั้งระดับบุคลทั่วไปและระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา จะได้โล่รางวัลเงินรางวัลมูลค่า 650,000 บาท และสิทธิท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติอีกด้วย
ขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่สนใจสามารถส่งภาพถ่ายที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของสัตว์ป่าและความงดงามสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ พร้อมสื่อแนวคิดและความหมายของคำว่า ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ส่งภาพได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2564 โดยส่งภาพเข้าประกวดผ่านเว็บไซต์ https://www.trueplookpanya.com/event/photocontest/login สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ทรูปลูกปัญญา โทร. 080-989-6153 หรือ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร.0-2579-6666 ต่อ 1641-2