สารคดีชุดความยาว 6 ตอน “ดิ อาร์ต บีต” (The Art Beat) ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เมื่อวันที่ 22 มกราคม ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของจีน 6 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยจิตรกร 5 ท่าน และวาทยากร 1 ท่าน โดยจัดทำขึ้นในหลายภาษา เพื่อแสดงให้เห็นว่าการใช้ศิลปะบันทึกจิตวิญญาณของยุคสมัยสามารถบอกเล่าเรื่องราวของจีนจากมุมมองทางวัฒนธรรมได้อย่างไร
สารคดีบอกเล่าเรื่องราวของศิลปินเหล่านี้ รวมทั้งสำรวจอิทธิพลและความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงออกมาผ่านผลงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าศิลปินเป็นตัวสะท้อนและมีอิทธิพลต่อยุคสมัยอย่างไร ศิลปินเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจและความเข้มแข็งจากภาพวาดและดนตรีจีนโบราณ และได้กำหนดอนาคตของแวดวงศิลปะในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “การวาดภาพเป็นการฝึกฝนตนเองรูปแบบหนึ่ง” คุณเฉิน เจียหลิง (Chen Jialing) ศิลปินแถวหน้าด้านการวาดภาพด้วยหมึกจีนโบราณ กล่าว เขามีชื่อเสียงจากการวาดภาพดอกบ๊วยด้วยลายเส้นที่อิสรเสรี เพื่อบรรยายความเป็นจริงและแสดงให้เห็นภาพของโลกรอบตัวเขา
“จิตรกรรมและชีวิตคือเส้นสองเส้นที่แยกจากกัน แต่เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ เส้นสองเส้นก็มารวมกันเป็นเส้นเดียว” คุณเจีย กวงเจียน (Jia Guangjian) อธิการบดีสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเทียนจิน กล่าว เขาเปิดเผยว่าได้รับแรงบันดาลใจในการวาดภาพจากชีวิตจริง นอกจากนี้ เขาได้รื้อฟื้นการวาดภาพแบบลายวิถีพู่กันไร้โครงร่าง (Boneless Style) และนำมาใช้ในศิลปะร่วมสมัย “ภาพวาดควรสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ผมตามกระแสอยู่เสมอ” คุณฟาน หยาง (Fan Yang) อาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาเอกของสถาบันบัณฑิตศิลปะจีน กล่าว อะไรก็ตามที่ดึงดูดสายตาของเขาสามารถกลายเป็นหัวข้อของภาพวาดได้ ตั้งแต่พยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ไปจนถึงทิวทัศน์ที่งดงาม เขาอ่อนไหวต่อกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง และใช้เวลาหลายปีในการวาดภาพเพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวเขา
“ผมพยายามบันทึกจิตวิญญาณความเป็นจีน และระบุแนวคิดทางศิลปะที่เป็นแกนหลักของศิลปะจีน” คุณหวัง หมิงหมิง (Wang Mingming) ผู้เรียนรู้การวาดภาพตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จนได้รับฉายาว่า “ศิลปินเด็กอัจฉริยะ” กล่าว ปัจจุบัน คุณหวังเชื่อมั่นว่าศิลปะจีนต้องเป็นไปตามวิถีของจีน “เราต้องรักษาแก่นแท้ของศิลปะโบราณ พร้อมกับสะท้อนถึงจิตวิญญาณและวัฒนธรรมร่วมสมัยของเรา” คุณเฟิง ต้าจง (Feng Dazhong) จิตรกรภาพวาดหมึกจีนซึ่งเกิดในครอบครัวคนงานเหมืองในมณฑลเหลียวหนิงเมื่อปี 2492 กล่าว เขาเป็นที่รู้จักจากภาพวาดเสือที่ดูน่าเกรงขาม ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “เสือที่วิจิตรงดงามมากที่สุดในโลก”
“ฉันทุ่มเทเพื่อทำให้ดนตรีคลาสสิกได้รับความนิยม นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และฉันจะทำ” คุณเจิ้ง เสี่ยวหยิง (Zheng Xiaoying) วาทยากรหญิงผู้ควบคุมวงซิมโฟนีคนแรกของจีน และนักดนตรีจีนคนแรกที่ได้แสดงในโรงละครโอเปร่าในต่างประเทศ กล่าว ศิลปินหญิงวัย 93 ปีอุทิศชีวิตเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจและจิตวิญญาณของผู้คนด้วยดนตรี ในช่วงปลายปี 2565 เธอและนักเรียนของเธอ อู่ หลิงเฟิน (Wu Lingfen) ซึ่งมีอายุรวมกัน 170 ปี ได้จัดแสดงโอเปร่าเรื่อง “ลา ทราเวียตา” (La Traviata) สารคดีชุด “ดิ อาร์ต บีต” ซีซันแรกได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชมในต่างประเทศ ซึ่งระบุว่าสารคดีชุดนี้ “สร้างแรงบันดาลใจ” และ “น่าทึ่ง” ส่วนซีซันที่สองซึ่งจะออกอากาศในช่วงกลางปี 2566 จะนำเสนอเรื่องราวของศิลปินชาวจีนอีกหลายท่านที่พยายามอนุรักษ์และสร้างสรรค์งานศิลปะท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว