หลังจากฝึกซ้อมนุ่งโจงกระเบนผ้าไทยให้เกิดความชำนาญเพื่อสร้างสรรค์ “นาฏการ” ที่งดงามสอดรับกับความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ วันนี้ ควีนนี่-เบญจรัตน์ อัครวณิชศิลป์ เอบิ Miss Supranational Thailand 2021 พร้อมนำ “ชุดศิวิไลซ์” เครื่องแต่งกายประจำชาติไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยุครัชกาลที่ 5 ที่ผสมผสานความงดงามอ่อนช้อยของโจงกระเบนไทย เข้ากับ เสื้อลูกไม้ในแบบฉบับอารยประเทศในยุคสมัยนั้น ผ่านการรังสรรค์ ออกแบบและตัดเย็บโดย ครูตุ้ย-ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ เจ้าของรางวัลนาฏราช สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมจาก ภาพยนตร์ชุดศรีอโยธยา คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยชั้นครู ที่ร้อยเรียงทุกรายละเอียดเป็นเรื่องราว เพื่อนำไปเฉิดฉายบนเวที Miss Supranational 2021 ณ ประเทศโปแลนด์ ได้อย่างภาคภูมิใจ
ครูตุ้ย-ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ กล่าวว่า การไปประกวดของควีนในครั้งนี้เสมือนเราได้กลับไปเยือน ณ จุดเริ่มต้นของความศิวิไลซ์ เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประภาสยุโรปเพื่อทรงประกาศให้โลกรับรู้ว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยที่มีความร่ำรวยทางภูมิปัญญาและบ้านเมืองเรามีความศิวิไลซ์ไม่แพ้ชาติใด “ชุดศิวิไลซ์” นี้ จึงถูกนำเสนอผ่านการผจญภัยของตัวแทนคนรุ่นใหม่อย่าง ควีนนี่-เบญจรัตน์ อัครวณิชศิลป์ เอบิ เพื่อนำแง่มุมที่งดงามของประเทศไทย ไปสื่อสารให้คนทั่วโลกได้ประจักษ์
“ชุดศิวิไลซ์” ได้รับการตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้ที่บรรจงสร้างความอ่อนช้อย ดุจเครือเถาของพรรณพฤกษา แพทเทิร์นแบบตะวันตกที่เน้นความสมจริง รองด้วยผ้าไหม ออกแบบช่วงแขนเป็นลักษณะทรงหมูแฮมที่พองบริเวณต้นแขน เสื้อทรงนี้เป็นแฟชั่นชั้นสูงของสตรีในยุค Victorian Edwardian ผสานด้วยผ้าสไบ หรือ แพรสะพายสีชมพู ส่วน ถนิมพิมพาภรณ์ หรือ เครื่องประดับกาย ไม่ว่าจะเป็น สร้อยคอ สร้อยสังวาลย์ ร่ม ตลอดจนรองเท้า บรรจงใส่รายละเอียดต่างๆ ที่จะรังสรรค์ให้ชุดมีความสมบูรณ์มากที่สุด เพราะโจทย์ในครั้งนี้ คือ เราต้องการสื่อสารให้สังคมเห็นว่า “ชุดศิวิไลซ์” เป็นชุดไทยที่ไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นการทำชุดจากภูมิปัญญาในแบบดั้งเดิมจริงๆ เหมือนถอดแบบมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนโจงกระเบนได้เลือกผ้าสีชมพู ลายราชวัตร ซึ่งเป็นลายภูมิปัญญาจากภาคใต้ แถบเกาะยอที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมใช้ในอดีต สีสวย เนื้อผ้าดี ให้ความเรียบหรู สง่างาม ขับผิวของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี นับเป็นงานหัตถกรรมจากฝีมือคนไทยที่ติดตัวควีนไป เสมือนทุกย่างก้าวเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังใจของคนไทย
“การทำชุดประจำชาติไปประกวดบนเวที Miss and Mister Supranational เป็นประสบการณ์ที่ดีของคนทำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพราะปกติของการทำชุดประกวดในยุคนี้ มักเน้นความยิ่งใหญ่อลังการ แต่การทำชุดในครั้งนี้ เรามุ่งเน้นการรักษาภูมิปัญญาให้คนเจเนอเรชั่นใหม่ และหากวันหนึ่งตัวแทนทั้งสองประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ ทั้งคู่น่าจะได้ส่งต่อความรู้สึก และองค์ความรู้ดีๆ ให้แก่คนรุ่นต่อไปได้ เพราะเสื้อผ้า และเครื่องประดับ แม้ว่าจะทำออกมาได้ดีเพียงใด แต่หากไม่ได้รับการสวมใส่ในแบบที่ควรจะเป็น ภูมิปัญญาเช่นนี้ก็จะหายไป จึงตั้งใจสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายสำหรับการประกวดในครั้งนี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นในการส่งต่อภูมิปัญญาจากอดีตสู่คนรุ่นใหม่” ผศ.ดร.กิตติกรณ์ กล่าว