จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ( พ.ศ.2561-2580) กำหนดให้การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาตินั้น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยหรือกิจการขนาดเล็ก ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน ที่นำไปสู่ผู้ประกอบการอัจฉริยะ โดยดึงพลังจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น มาร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
ดร.ณัฐธยาน์ ตรีผลา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะหนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ BangBua Community Platform เปิดเผยว่า อุดมศึกษา ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเป็นหัวใจของการบ่มเพาะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีนโยบายที่ชัดเจนด้านการอุดมศึกษาให้สร้างและพัฒนาคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขับเคลื่อนหลักสูตรอุดมศึกษายุคใหม่ให้เข้ากับอาชีพแห่งอนาคต สร้างบัณฑิตใหม่สู่โลกใบใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 และขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการใช้ศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ด้วยการบูรณาการนโยบายเศรษฐกิจ บีซีจี โมเดล (BCG Model) เพื่อการปรับเปลี่ยนประเทศด้วยปัญญาจากฐานรากและเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น
จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนและส่งเสริมการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษากับการปฏิบัติงานจริง ลดระยะเวลาเรียนในชั้นเรียน มุ่งเน้นการปฏิบัติจริง เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ตรงตามสาขาวิชาและองค์ความรู้ที่เรียน โดยมีชุมชนเป็นฐานในการนำความรู้เชิงวิชาชีพในสาขาที่เรียนสู่การปฏิบัติ (Community-based Learning Program : CBL) ผ่านโครงการที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ของชุมชน (Area-based) และมุ่งเน้นผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาด้านความยากจน ความเหลื่อมล้าและปัญหาคุณภาพชีวิต ที่ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ดร.ณัฐธยาน์ เผยต่อว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุม ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว.) ภายใตัโครงการยุวชนอาสา ระยะ 2 ประจำปี 2564 โดย สป.อว.ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมเป็นหน่วยขับเคลื่อน (EB) โครงการยุวชนอาสา ระยะ 2 และอนุมัติให้ดำเนินการโครงการฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 โครงการ อาทิ โครงการการสร้าง Platform นวัตกรรมชุมชนวิถีใหม่เพื่อการเรียนรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยว (ไมตรีจิตโมเดล) ,โครงการสร้างสรรค์ชุมชนตลาดพลู Gastronomy District เขตธนบุรี ,โครงการบางบัว คอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม และโครงการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ให้เข้าสู่ตลาดสากล ชุมชนตลาดพลู กรุงเทพมหานคร
สำหรับโครงการ “BangBua Community Platform” ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ด้วยการรวมพลังคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชน โดยนักศึกษา จาก 3 คณะ 2 วิทยาลัย ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะบัญชี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพลายเชน และวิทยาลัยนานาชาติศรีปทุม เริ่มต้นโครงการด้วยการลงพื้นที่ เพื่อสำรวจและถ่ายภาพเก็บข้อมูลร้านค้าในเคหะชุมชนบางบัวไปแล้วจำนวน 4 ครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยไมตรีจิต จากพ่อแม่พี่น้องร้านค้าในเคหะชุมชนบางบัวเป็นอย่างดี เพื่อนำข้อมูลของร้านค้าต่างๆไปพัฒนาในการสร้างฐานข้อมูลร้านค้าของชุมชนต่อไป
นอกจากนี้ในครั้งล่าสุด ได้เข้าพบคุณชาญ เจริญศรี ประธานเคหะชุมชนบางบัว คุณสุมาลัย เติมเกียรติไพบูลย์ และคุณสุปิยา ทองแก้ว อาสาสมัครบ้านหนังสือกรุงเทพมหานคร เคหะชุมชนบางบัว เพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการฯ โดยทีมนักศึกษาได้นำตัวอย่างโลโก้โครงการไปเสนอให้พิจารณา หลังจากการได้พบปะพูดคุย ทางคุณชาญได้นำคณะนักศึกษาและคณาจารย์ ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลร้านค้าเพิ่มเติม พร้อมนัดหมายร้านค้าเพื่อถ่ายรูปสำหรับการทำประชาสัมพันธ์ร้านค้ากันต่อไป