LOGISTICS SPU จับมือ TTLA & TPQI ร่วมทดสอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านโลจิสติกส์ คุณวุฒิชั้นที่1 สำหรับเฟรชชี่ โลจิสติกส์ฯ ม.ศรีปทุม 3 วิทยาเขต (บางขน ชลบุรี ขอนแก่น) และ นักศึกษาที่สนใจ เข้าร่วมกว่า 300 คน
ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่าปัจจุบันการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์และโซ่อุปทานกำลังประสบกับสภาวการณ์ Disruption ทางเทคโนโลยีอย่างรุนแรง ทำให้บางอาชีพหายไป และเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาทดแทน การดำเนินธุรกิจจึงต้องแสวงหาวิธีหรือ กลยุทธ์ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กร หรือเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจในยุคโลจิสติกส์ 4.0 ดังนั้นทักษะด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ GIS, GPS, Big Data, iOT และ AI เป็นต้น
วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย จัดโครงการทดสอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านโลจิสติกส์ ระดับคุณวุฒิ ชั้น 1 ให้กับนักศึกษาวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ชั้นปีที่ 1 ของ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ทั้ง 3 วิทยาเขต (บางเขน,ชลบุรี,ขอนแก่น) และนักศึกษาที่สนใจ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมกว่า 300 คน เพื่อเป็นการสร้างโอกาส ในการไต่ระดับมาตรฐานอาชีพเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพโลจิสติกส์ มีความมั่นใจในการกำหนดแนวทางการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สามารถปฏิบัติงานได้มาตรฐานระดับชาติหรือนานาชาติ ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์ทดสอบย่อย มหาวิทยาลัยศรีปทุม กทม.(บางเขน) ซึ่งนักศึกษาโลจิสติกส์ฯ ที่ผ่านการทดสอบจะได้รับ Certificate จากทาง TPQI ด้วย
ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนการสอนในห้องปฏิบัติการ Digital Supply Chain Classroom และการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนสู่อาจารย์มืออาชีพด้วยมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพของมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU-Professional Standard Framework: SPU-PSF) ซึ่งเทียบเคียงกับแนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย 4 โดเมน ได้แก่ ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ (Practice) ด้านคุณค่าของอาจารย์มืออาชีพ (Values) และด้านสัมฤทธิ์ผลของผู้เรียน (Student Achievement)
วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงมีแนวคิดในการ นำเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาหน้าจอสัมผัส ไอแพด มาปรับใช้ในการสร้างระบบนิเวศน์ของการเรียนรู้ ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล การสร้างสื่อการสอนแบบการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และสื่อการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สร้างการเรียนการสอนแบบเชิงรุก โดยผู้เรียนสามารถตอบสนองต่อเนื้อหาได้ทันทีในชั้นเรียน สร้างความมีส่วนร่วมในชั้นเรียนโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนห้องเรียนรูปแบบเดิม สู่การเรียนในรูปแบบใหม่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับบัณฑิตพันธุ์ใหม่ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อความเป็น SPU SMART