“อาจารย์แพรว” ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของไทย และประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ หนึ่งในโรงเรียนอินเตอร์ระดับท็อปของประเทศ ล่าสุดให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive ถามตรงตอบตรงในรายการ Woody FM ถึงการศึกษาไทยในหลากหลายแง่มุม ซึ่งคำตอบที่ได้มาจากประสบการณ์การทำงานในแวดวงการศึกษามากว่า 20 ปี
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ กล่าวถึงภาพรวมการศึกษาไทยว่า ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เด็กเกิดในเมืองไทยเกือบล้านคนต่อปี ทุกวันนี้เหลือประมาณ 5 แสนคน หรือหายไปครึ่งหนึ่ง มีผลกับเด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เกิดการแข่งขันดุเดือด นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังมีแนวคิดโตเป็นผู้ใหญ่ไวขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก บางคนทำงานหาเงินได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยต้องทำให้เห็นว่าเราสามารถสนับสนุนและส่งเสริมเขาได้ยังไงบ้าง มาเรียนแล้วต้องได้อะไรกลับไปมากกว่าแค่ปริญญา
เมื่อถูกถามว่า หากมีพลังวิเศษในการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย จะเลือกทำอะไรก่อน? ดร.ดาริกา กล่าวว่า “เลือกพัฒนาระดับโรงเรียนก่อน เพราะเวลาพูดถึงคุณภาพการศึกษาว่าดีหรือไม่ดี จะมองที่การเรียนระดับโรงเรียน ไม่ใช่ระดับมหาวิทยาลัย ถ้าอยากแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ต้องลงไปดูที่ระดับโรงเรียนก่อนเป็นอย่างแรก เป็นพื้นฐานของระบบการศึกษาที่สำคัญที่สุด ซึ่งสำหรับประเทศไทยคงเห็นแล้วว่าเราเจอปัญหาหลายๆ เรื่อง ที่ทำให้การศึกษาไทยยังไม่ดีพอ”
ดร.ดาริกา ขยายความว่า ในภาพรวมโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นโรงเรียนของรัฐ ดังนั้น เวลาเราพูดถึงคุณภาพการศึกษาของไทย เราจึงมองไปที่คุณภาพของโรงเรียนรัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การศึกษาในโรงเรียนรัฐมีปัญหาค่อนข้างซับซ้อน แต่เรื่องหลักๆ ที่หากแก้ไขได้ จะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างที่เจออยู่ คลี่คลายลงไปได้
- กระจายอำนาจในการบริหารโรงเรียน เพราะโรงเรียนรัฐมีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจไปยังพื้นที่ ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด
- เปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณ ค่าเล่าเรียนและสวัสดิการนักเรียนต้องให้กับเด็ก หรือผู้ปกครองโดยตรง เมื่อผู้บริโภคเป็นคนเลือกโรงเรียนเอง จะทำให้ทุกๆ โรงเรียนพยายามยกระดับตัวเองให้มีคุณภาพมากที่สุด นอกจากนี้ งบพัฒนาโรงเรียนก็ไม่ควรจัดสรรให้โรงเรียนแบบให้มากหรือน้อยตามจำนวนนักเรียนในโรงเรียน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมักจะได้เงินน้อยตลอดกาลและก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก
- ควบรวมโรงเรียนเล็กให้เป็นลักษณะโรงเรียนแม่ข่าย/ลูกข่าย เพราะประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้การกระจายงบประมาณไม่มีสิทธิภาพ งบประมาณไม่เพียงพอ ขาดบุคลากร เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้นปี ไม่ครบห้อง
ดร.ดาริกา ย้ำว่า “ครู” มีความสำคัญกับเด็กมาก นอกจากครูจะต้องเข้าใจการสอน มีความเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitator) ที่ไม่ใช่แค่การสอนแบบท่องจำ ครูยังต้องมี Passion ในการพัฒนาเด็ก และเข้าใจว่าวิธีไหนเหมาะสมกับเด็กด้วย เพราะต่อให้นำหลักสูตรที่ดีที่สุดมา Copy & Paste เช่น หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์มาใช้กับโรงเรียนไทยก็ทำไม่ได้ เพราะสำคัญยิ่งกว่าตัวหลักสูตรคือ “คุณภาพครู” สำหรับความเป็นไปได้ที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นครูแทนคน ดร.ดาริกา ให้ความเห็นว่า เป็นไปได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะสิ่งที่ AI ไม่มีคือองค์ประกอบความเป็นมนุษย์ (Human Element) การปฏิสัมพันธ์ การชักจูง การโน้มน้าว เป็นสิ่งที่ AI ทำได้ไม่เท่ามนุษย์ ในวันนี้จึงยังไม่เห็นว่า AI จะมาแทนที่ครูได้ โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้จากการเข้าสังคมและคนรอบข้าง ยิ่งเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ ในวันข้างหน้า หาก AI สามารถทำได้ดี ก็ยังอยากมีชีวิตอยู่เพื่อรอดูด้วยตาตัวเอง
นอกจากนี้ ดร.ดาริกา ยังเผยถึงสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตเกี่ยวการศึกษาไทยว่า อยากเห็นเด็กไทยมีแรงบันดาลใจ มีความอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่อยากเห็นการเรียนแบบกดดันจนเกินไป อยากเห็นเด็กเรียนรู้แบบ Relax มีความอยากรู้อยากเห็น โดยครูมีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ไม่ดับฝันหรือกำหนดแบบแผนเยอะจนเด็กดิ้นออกจากเส้นทางไม่ได้ “อยากเห็นเด็กที่คิดแตกต่าง ทุกคนไม่ได้คิดเหมือนกัน อยากเห็นโรงเรียนที่ไม่ได้เตรียมเด็กเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว เพราะการศึกษาเป็นแผนระยะยาว เป้าหมายไม่ใช่แค่นั้น แต่ในอนาคตเขาทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรให้กับสังคมบ้าง มีความสุขยังไง อยากเห็นเด็กไทยเป็นแบบนี้มากกว่า ไม่สนว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้มากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าเข้าได้ก็ดี บ่งบอกถึงความรอบรู้ แต่ไม่ใช่ทุกคนมองมิตินั้นมิติเดียว” ดร.ดาริกา กล่าว
ชมคลิปรายการ Woody FM สัมภาษณ์ “อาจารย์แพรว” ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แบบเต็มได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=hv6DzRN1lNw&t=369s