ครั้งแรกของโลกกับการค้นพบ “จิ้งจกหินวงจันทร์” (Gehyra wongchan Pauwels, Meesook, Kunya, Donbundit & Sumontha, 2022) ซึ่งค้นพบโดยทีมวิจัยที่ทำการสำรวจสัตว์เลื้อยคลานบริเวณเขาหินปูนจังหวัดลพบุรี นำทีมวิจัยพร้อมเก็บตัวอย่างชุดต้นแบบโดย ดร.วรวิทู มีสุข อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) ร่วมด้วย นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง, นางสาวณัฐสุดา ดรบัณฑิต นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกีรติ กันยา หัวหน้าฝ่ายบำรุงสวนสัตว์ สวนสัตว์นครราชสีมา
“จิ้งจกหินวงจันทร์” (Gehyra wongchan Pauwels, Meesook, Kunya, Donbundit & Sumontha, 2022) ค้นพบขณะที่ทีมวิจัยกำลังทำการสำรวจสัตว์เลื้อยคลานบริเวณเขาหินปูนจังหวัดลพบุรี โดยได้พบจิ้งจกหินไม่มีเล็บบนนิ้วที่ 1 ซึ่งต่างจากจิ้งจกทั่ว ๆ ไป ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ลายโค้งสีเข้มคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว ในเบื้องต้นไม่สามารถระบุชนิดได้ จึงเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบร่วมกับ มร.โอลิเวียร์ เอส. จี. เพาเวลส์ (Mr. Olivier S.G. Pauwels) ภัณฑารักษ์ สถาบันธรรมชาติวิทยาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งพบว่าเป็นจิ้งจกหินที่ยังไม่เคยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน จากการที่ทีมวิจัยพบจิ้งจกหินชนิดนี้ที่เขาวงพระจันทร์ และถ้ำเขาจันทร์ จึงเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ ‘wongchan’ และชื่อไทย “วงจันทร์”
จากการสำรวจพื้นที่เขาหินปูน พบว่าเป็นระบบนิเวศที่แยกขาดจากระบบนิเวศอื่น สิ่งมีชีวิตบริเวณนี้หลายชนิดมีความจำเพาะกับถิ่นอาศัย ไม่สามารถปรับตัวไปอยู่ในระบบนิเวศอื่นได้ หากถิ่นอาศัยถูกทำลาย จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ รายงานการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะในประเทศไทย เป็นหลักฐานชัดเจนที่แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่แห่งนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาระบบนิเวศเขาหินปูนในบริเวณนี้ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง เราควรร่วมกันอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตเพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางทรัพยากร เป็นการรักษาโอกาสที่จะมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรทางชีวภาพของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นับเป็นความภาคภูมิใจของวงการวิชาการไทยอีกครั้ง ที่บุคลากรทางด้านวิชาการไม่หยุดศึกษาค้นคว้า สำรวจทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในประเทศและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักสู่สากล