เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ หอการค้าไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนโครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามและมอบนโยบายการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งกิจกรรมความร่วมมือภายใต้โครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์จะเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามหมุดหมายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นคุณค่าและความยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวถึงบทบาทหลักของกระทรวงในการสร้างและพัฒนากำลังคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และสร้างพลังขับเคลื่อนประเทศโดยมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่และชุมชนผ่านมหาวิทยาลัยที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค สำหรับความร่วมมือในวันนี้จะอาศัยกลไกของ “วิทยสถาน สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา” ขับเคลื่อนการวิจัย วิชาการและการพัฒนาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของประเทศ แบบสหวิทยาการ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยี LiDAR ในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีโบราณสถานหรือแหล่งประวัติศาสตร์ การประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำแหล่งข้อมูลทางวิชาการเพื่อเสริมใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปิด Route เส้นทางใหม่ๆ สร้าง Story telling ที่อิงข้อมูลประวัติศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้ โดยในปีแรกจะดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเส้นทางประวัติศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูงนำร่องใน 3 เส้นทางปฐมฤกษ์ ท่องเที่ยวเรียนรู้3 ยุคสมัย ได้แก่ เส้นทางประวัติศาสตร์อยุธยา เส้นทางประวัติศาสตร์ทวารวดี (สุพรรณบุรี ราชบุรี) และเส้นทางประวัติศาสตร์ละโว้ (ลพบุรี) คาดว่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ทำให้พื้นที่เข็มแข็งและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของหอการค้าไทยที่มีสมาชิกกระจายตัวอยู่ทั่วทุกจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค ที่จะสามารถอำนวยการและประสานการดำเนินงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC ที่มีทั้งความพร้อมและมีไฟในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่อย่างสูงสุด ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบาย Connect the Dots ที่มุ่งเน้นให้หอการค้าไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับกิจกรรมการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ร่วมกันในครั้งนี้ จะเริ่ม kick off ทริปนำร่อง 2 วัน 1 คืน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยคาดว่ากิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว ยังช่วยสร้างรายได้และสร้างการจ้างงานให้เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่าความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดทางวิชาการแล้ว ยังมีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวนำร่องตอบสนองการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการท่องเที่ยว ที่เน้นการสร้างรายได้สู่ชุมชน รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจพร้อมส่งต่อความรู้เหล่านั้นให้คงอยู่สืบไป โดยเบื้องต้นมีการกำหนดธีมของทั้ง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทางที่ 1 เส้นทางอยุธยาภายใต้ธีมวิถีชีวิตริมน้ำ
เส้นทางที่ 2 เส้นทางละโว้ภายใต้ธีมวัฒนธรรมและความเชื่อ และ
เส้นทางที่ 3 เส้นทางทวารวดีภายใต้ธีมเห็นรากเหง้าก่อนประวัติศาสตร์และมุมประวัติศาสตร์กับหลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อมโยงตั้งแต่อู่ทองถึงสุวรรณภูมิ
การจัดกิจกรรมทั้ง 3 เส้นทาง จะยังคงดำเนินการภายใต้มาตรการการป้องกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมาตรฐานของสาธารณสุขและมาตรฐาน SHA ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและ ททท. จะสนับสนุนด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งประสานงานกับผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง