ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการมีภาวะชะลอตัวตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด แต่หลังจากที่นานาประเทศทุ่มเทกำลังในการต่อสู้กับวิกฤติการณ์ที่ขยายไปทั่วโลก ทำให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านโควิดได้อย่างทั่วถึง ช่วยลดการแพร่ระบาดและบรรเทาการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งถึงแม้เชื้อโควิด-19 จะยังคงกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ แต่ก็มีแนวโน้มว่าความรุนแรงค่อยๆ ลดลง ผู้คนจึงเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้นในรูปแบบ New Normal
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ทยอยผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เช่น การยกเลิกไทยแลนด์พาส การประกาศให้พื้นที่ 77 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ทำให้ภาคธุรกิจสามารถเปิดบริการได้ตามปกติมาตั้งแค่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงล่าสุดคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้พิจารณาปรับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง นโยบายเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการกำลังมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะขยายตัวราว 160% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวมากกว่า 200% ขณะเดียวกันก็มีผลสำรวจว่า ครึ่งปีแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยราว 2 ล้านคน ทำให้มีรายได้สะพัดกว่า 1.14 แสนล้านบาท
วิทยาลัยดุสิตธานี ในฐานะสถาบันในเครือโรงแรมดุสิตธานี (Dusit International) ซึ่งสอนด้านธุรกิจบริการโดยตรงทั้งระดับป.ตรีและป.โท จึงเตรียมพัฒนาองค์กรให้พร้อมรับการกลับมาเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และสานต่อความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ ด้วยการปักธงพันธกิจหลัก 4 ข้อ ได้แก่ Sustainability, Integration, Digitalization และ International โดยมุ่งสร้างความพร้อมให้กับทั้งนักศึกษาและบุคลากรของวิทยาลัย
“จากผลสำรวจของหลายๆ สำนักพบว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ภาคการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างผู้ที่มีทักษะรอบด้าน มีความรู้ที่ทันสมัย และได้มาตรฐานสากล เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทยให้ก้าวหน้า” คุณฟราวเกอะ เกอร์เบนส์ อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี กล่าว “วิทยาลัยดุสิตธานีจึงมุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ และเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และบริการในภูมิภาคอาเซียน โดยยึดมั่นใน 4 พันธกิจหลักคือ Sustainability หรือการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด แต่ยังรวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้วย Integration หรือการบูรณาการสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งระหว่างหลักสูตร หน่วยงานภายใน ไปจนถึงระดับองค์กรกับพันธมิตรภายนอก Digitalization หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในการเรียนการสอนและการทำงาน และข้อสุดท้ายคือ Internationalization หรือความเป็นสากล ด้วยการพัฒนาหลักสูตรสองภาษาและหลักสูตรนานาชาติ ปลูกฝัง international mindset ให้ทุกคน โดยตั้งเป้าให้วิทยาลัยดุสิตธานีเป็นผู้นำในระดับอาเซียน”
พันธกิจทั้ง 4 ข้อดังกล่าวจึงไม่เพียงส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอน แต่ยังเป็นส่วนพัฒนาองค์กรในระดับองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือบุคลากร เนื่องจากวิทยาลัยดุสิตธานีเล็งเห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการให้พร้อมรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องสร้างทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพตั้งแต่รากฐาน นั่นหมายถึงการศึกษา โดยพัฒนาอาจารย์และบุคลากรให้มีความสามารถ เพื่อบ่มเพาะให้นักศึกษามีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป