ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบรางวัลกิจกรรมติดดาว แก่นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา ที่เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา : บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 -2565 หลังเข้าอบรมเสริมสร้างความรู้ และแรงบันดาลใจจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ กว่า 3 วัน โดยมุ่งหวังให้สามารถนำความรู้ไปใช้พัฒนาประเทศได้ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ภายในงานวันนักประดิษฐ์ ทำให้เราได้เห็นภาพผลิตกรรมจากนักศึกษาสายอุดมศึกษาทั้งจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จำนวนหลายสถาบัน ที่ได้มุ่งมั่นตั้งใจนำเสนอความก้าวหน้าผลงาน อันสะท้อนการเติบโตของนักประดิษฐ์ นักวิจัย รวมทั้งพัฒนาการของผลิตกรรมที่มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ โดยได้รับคำแนะนำ ความรู้ แรงบันดาลใจจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์ นักวิจัยเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป นอกจากการอบรมแล้ว วช.ยังพร้อมสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ และหวังว่าในปีต่อ ๆ ไป โครงการฝึกอบรมบ่มเพาะบุคลากรอุดมศึกษานี้ จะมีสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น
กิจกรรมอบรมบ่มเพาะในครั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษา ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 25 สถาบัน วช.จึงได้มอบรางวัลกิจกรรมติดดาว ให้แก่ผลงานประดิษฐ์ที่มีความโดดเด่น ใน 4 กลุ่มเรื่อง และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคน เพื่อเป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์ผลงานดี ๆ เช่นนี้ต่อไป โดยรางวัลกิจกรรมติดดาว แบ่งออกเป็น รางวัลระดับ 5 ดาว เงินรางวัล 5,000 บาท , ระดับ 4 ดาว เงินรางวัล 4,000 บาท และระดับ 3 ดาว เงินรางวัล 3,000 บาท แยกเป็น 4 กลุ่มเรื่อง ได้แก่
รางวัลกลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับ 5 ดาว ได้แก่ ผลงานต้นแบบชุดตรวจสอบประสิทธิภาพสูงสำหรับการตรวจหาการติดพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดเล็กชนิด Haplorchis pumilio ในปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจโดยเทคนิค LAMP-LFD biosensor ระดับ 4 ดาว ได้แก่ ผลงานชุดตรวจทางชีวภาพสำหรับตรวจหาเชื้อไวรัส MrNV ในกุ้งกรามโดยเทคนิค CRISPR-CAS และระดับ 3 ดาว ได้แก่ ผลงานชุดตรวจไวรัสแบบแถบสีโรคควงสว่าน เป็นของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทั้ง 3 ผลงาน
รางวัลกลุ่มสาธาณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับ 5 ดาว ได้แก่ ชุดตรวจ”หยดและอ่าน”สำหรับตรวจยีน a-Thalassemia ชนิด SEA Type ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลระดับ 4 ดาว ได้แก่ ผลงานชุดตรวจพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดเล็กชนิด Centrocestus formosanus ในปลาเศรษฐกิจและมนุษย์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผลงานระบบจ่ายยาอัตโนมัติ ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ และรางวัลระดับ 3 ดาว ได้แก่ ผลงานถุงมือเคลือบยางธรรมชาติสำหรับการป้องกันรังสีเอกซ์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รางวัลกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ระดับ 5 ดาว ได้แก่ ผลงานอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กไฮบริดไทรโบอิเล็กทริก-เพียโซอิเล็กทริก บนพื้นฐานวัสดุคอมโพสิตทางธรรมชาติ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รางวัลระดับ 4 ดาว ได้แก่ ผลงาน Smart Chemical Kinetic Learning ของมหาวิทยาลัยทักษิณ และรางวัลระดับ 3 ดาว ได้แก่ ผลงาน N-Bump (ลูกระนาดลดแรงกระแทก) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
และรางวัลกลุ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รางวัลระดับ 5 ดาว ได้แก่ ผลงานการประยุกต์ภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือเชิงสร้างสรรค์ ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูย อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ รางวัลระดับ 4 ดาว ได้แก่ การพัฒนาชุดกิจกรรมศิลปะภาพพิมพ์ปลอดสารพิษเพื่อส่งเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรางวัลระดับ 3 ดาว ได้แก่ ผลงานผลิตภัณฑ์จักสานจากก้านบัวสู่เชิงพาณิชย์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี