วันที่ 13 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมแถลงข่าว “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ภายใต้ชื่อ NRCT TALK : ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ครั้งที่ 1” ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำ“หุ่นยนต์ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 อาคาร วช.8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญต่อการสร้างนักวิจัยและนักประดิษฐ์ในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนางานที่ยกย่องเชิดชูประกาศเกียรติคุณผลงานที่มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา อันจะเป็นการสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพในการเติบโตเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป ซึ่งในวันนี้ วช. ได้มีการเปิดตัว 1 ในผลงานที่เข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 จนคว้ารางวัลระดับดี ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ (ระดับบัณฑิตศึกษา) กับนวัตกรรมสุดล้ำ “หุ่นยนต์ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” ของ นางสาวชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ นักศึกษาสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผศ. ดร. มนต์อมร ปรีชารัตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผลงานนวัตกรรม
ผศ. ดร. มนต์อมร ปรีชารัตน์ และ นางสาวชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ เปิดเผย หุ่นยนต์ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาขึ้นนี้ ใช้สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาพยาบาลเรื่องทักษะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นการฉีดยาบริเวณต้นขา และมีความลึกของการฉีดยาแตกต่างกับวัยอื่น ๆ โดยหุ่นฝึกนี้สามารถให้คำแนะนำ (feedback) ผู้เรียนในเรื่องความถูกต้องของตำแหน่งการฉีดยาและระดับความลึกของเข็ม เมื่อผู้เรียนปฏิบัติได้ถูกต้องหุ่นยนต์จะแจ้งเตือนด้วยระบบขึ้นมาว่า “เยี่ยมมาก” หากผู้เรียนปฏิบัติไม่ถูกต้องระบบจะแจ้งเตือนขึ้นมาอีกครั้งว่า “ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง” ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดและเรียนรู้ถึงทักษะระดับการเรียนรู้ของตนเอง และพัฒนาทักษะการฉีดยาของตนให้ดีขึ้นจากคำแนะนำที่ได้รับ รวมถึงการฝึกด้วยหุ่นฝึกฯ ยังสามารถทำให้เกิดความมั่นใจในการฉีดยา จนสามารถฉีดยาอย่างถูกต้องและเกิดความมั่นใจกับผู้ป่วยจริงได้ นอกจากนี้ ผลงานชิ้นนี้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีราคาไม่แพง และหาได้ง่ายในชุมชน แต่สามารถให้ประโยชน์ได้ใกล้เคียงกับนวัตกรรมที่จำหน่ายในท้องตลาดที่มี่ราคาสูง จึงนับว่าเป็นข้อดีของการพัฒนาผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเป็นสื่อการเรียนการสอนเรื่องการฉีดยาทารกแรกเกิด ให้กับกลุ่มนักศึกษาพยาบาลในประเทศไทย
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากหุ่นยนต์ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ คือ สถานศึกษา และบุคลากรสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการฝึกอบรมบุคลากรให้เกิดความมั่นใจและการฉีดยาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ได้มีการนำไปนวัตกรรมดังกล่าวไปทดลองใช้กับพยาบาลวิชาชีพที่มีความชำนาญในการฉีดยาทารกแรกเกิดและได้ลงความเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์นี้มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมากในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านการแพทย์อย่างสูงสุด
กิจกรรมแถลงข่าว “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ภายใต้ชื่อ NRCT TALK : ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ครั้งที่ 1” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป