มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตอกย้ำความเป็นผู้นำแห่งสถาบันอุดมศึกษาของไทย เดินหน้ารุกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แถลงข่าวเปิด ศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและทีมบริหารจัดการภาพยนตร์ดิจิทัล โดยกลุ่มวิชาเอกภาพยนตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมเปิดตัว THE DIGITAL FILM TEACHERS ระดมกำลังสร้างองค์ความรู้จากตัวจริงแห่งวงการภาพยนตร์และธุรกิจสื่อ สู่บทบาทผู้ถ่ายทอดวิชาปั้น #เด็กฟิล์มหัวการค้า นำโดย คณะที่ปรึกษาอธิการบดีและที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (BCSC) นำโดย ดร.วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส ปรัชญา ปิ่นแก้ว และบัณฑิต ทองดี ให้เกียรติรับหน้าที่อาจารย์พิเศษ ผนึกพลังแห่งศาสตร์และศิลป์ มอบความรู้ด้านการผลิตสื่อและภาพยนตร์ นำไปสู่การเติบโตในอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์ไทยต่อไปในอนาคตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน ด้วยความรู้และประสบการณ์จริงแบบ Practice University ตามแบบฉบับการสอนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงที่มาของโครงการเปิดศูนย์ฯ ว่า “ศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและทีมบริหารจัดการภาพยนตร์ดิจิทัล เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของคณะที่ปรึกษาทั้งสามท่าน ได้แก่ อาจารย์ปรัชญา ปิ่นแก้ว อาจารย์บัณฑิต ทองดี และ ดร.วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส ที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ผ่าน Soft Power ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม การเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่สามารถจุดประกายความฝัน สร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้ชมได้ อีกทั้งเป็นการปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงริเริ่มภารกิจที่จะเชิญผู้มีประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นบุคคลชั้นนำในอุตสาหกรรมสื่อและภาพยนตร์มาร่วมถ่ายองค์ความรู้แก่ผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของการเป็น Practice University โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องการขยายขีดความสามารถการแข่งขันของบุคลากรในแวดวงสื่อสารมวลชนของประเทศไทย ให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมในระดับนานาชาติ และขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ความบันเทิงจากสื่อภาพยนตร์เป็น Soft Power ในการรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ในรูปแบบที่เข้าถึงใจผู้ชม ตลอดจนนำเสนอเรื่องราวจากแง่มุมต่าง ๆ ที่จะหนุนนำอุตสาหหกรรมการท่องเที่ยว สังคม วัฒนธรรมของประเทศไทย สู่สายตาของผู้ชมในระดับสากล ดังที่ภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ไทยหลายเรื่อง ได้สร้างข้อพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว และนำมาซึ่งผลประโยชน์อย่างมหาศาลคืนกลับสู่เศรษฐกิจและประชาชนในประเทศต่อไป”
ดร.วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท 360 องศา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “การเปิดศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและทีมบริหารจัดการภาพยนตร์ดิจิทัล โดยกลุ่มวิชาเอกภาพยนตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ตลอดจนคณะที่ปรึกษา มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการมอบประสบการณ์จริงแก่ผู้เรียน พร้อมการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์เพื่อการผลิตสื่อและภาพยนตร์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ขณะที่หัวใจสำคัญคือการต่อยอดให้การสร้างภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นธุรกิจที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดจนการวางรากฐานให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็น Soft Power ที่เผยแพร่เนื้อหาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมสู่สายตาผู้ชมในระดับสากล เป็นการยกระดับการศึกษาและพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนไทย เราเชื่อมั่นว่าการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางธุรกิจอย่างแท้จริง ศูนย์ฯ มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนที่จะเป็นศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศด้านการสื่อสารที่มีคุณภาพ สู่ภาคธุรกิจ สังคม และประชาชนเพื่อความยั่งยืน และจะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และการสื่อสารที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างสรรค์ธุรกิจ ในด้านพันธกิจที่สำคัญ เราเดินหน้าในการผลิตหลักสูตรระยะสั้นเพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายด้านการสื่อสารทุกรูปแบบ แก่ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาครัฐวิสาหกิจ รวมทั้งมีบทบาทในส่วนของการผลิตงานวิจัย สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และสังคม เพื่อนำความรู้หรือข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาเรื่องการสื่อสารอย่างมีคุณภาพ และท้ายที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรขององค์กรต่าง ๆ ทุกภาคส่วนให้มีความโดดเด่นด้านการสื่อสารที่จะนำไปสู่การสานต่อความยั่งยืนของประเทศชาติในอนาคต”
ด้าน ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่ปรึกษาอธิการบดี และที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้กล่าวถึงภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยว่า “ภาพยนตร์ไทยนับเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับเป็นวงกว้างในระดับสากล ซึ่งยังมีจำนวนน้อยเรื่อง ที่สามารถก้าวไปสู่จุดที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ความท้าทายดังกล่าวสามารถตีความได้หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของผู้ชม ค่านิยมในระดับชนชาติ แม้กระทั่งคนไทยบางส่วน ยังคงขาดศรัทธาต่อภาพยนตร์ไทยที่ผลิตโดยคนไทยเช่นกัน อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับงานผลิตซึ่งต้องอาศัยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาบทที่ดีซึ่งเป็นหัวใจของภาพยนตร์ ตลอดจนการลงทุนเพื่อให้ได้งานสร้างคุณภาพ แม้ในความเป็นจริงภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้นมีจำนวนมาก แต่ยังไม่มากพอที่จะประกาศจุดยืนสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก ทำให้เราเหล่าวิทยากรและคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ จะต้องอาศัยประสบการณ์การทำงานที่พัฒนาสู่องค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดสู่ผู้เรียนในหลักสูตร เพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวความคิด ความรู้ ความสามารถ และก้าวสู่วงการภาพยนตร์อย่างมี career path ที่คาดหวังความเติบโตก้าวหน้า และสามารถเป็นส่วนผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ต่อไปในอนาคต”
บัณฑิต ทองดี ที่ปรึกษาอธิการบดี และที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวถึงโอกาสความก้าวหน้าของบุคลากรรุ่นใหม่ในวงการภาพยนตร์ว่า “ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสที่เพียงพอเท่ากัน ที่จะก้าวสู่การเป็นบุคคลชั้นนำที่จะประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบท ประสบการณ์ และการสามารถทำความเข้าใจถึงทักษะที่แท้จริงของตนเองว่ามีความถนัดเฉพาะด้านใดเป็นพิเศษ ในทุกยุคสมัยจะเห็นได้ว่า เรามีตัวอย่างของคนไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการภาพยนตร์ จากผลงานภาพยนตร์อันเป็นที่ประจักษ์สู่การยอมรับเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะในบทบาทของผู้กำกับการแสดง กำกับภาพ ผู้เขียนบท นักแสดง และอื่น ๆ หากเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ และได้รับการบ่มเพาะจากหลักสูตรที่มีคุณภาพ ประกอบด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริงในระหว่างเรียน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสสำคัญ ที่ศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและทีมบริหารจัดการภาพยนตร์ดิจิทัล โดยกลุ่มวิชาเอกภาพยนตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะสามารถส่งมอบให้ผู้เรียน ทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมได้อย่างแน่นอน”
สำหรับศูนย์พัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและทีมบริหารจัดการภาพยนตร์ดิจิทัล เป็นโครงการภายใต้หลักสูตรของกลุ่มวิชาเอกภาพยนตร์ดิจิทัล คณะนิเทศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างบัณฑิตและบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ที่ก้าวสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้อย่างมีประสบการณ์ จากรายวิชาที่น่าสนใจของหลักสูตร ฯ อาทิ การผลิตภาพยนตร์ดิจิทัล การบริหารจัดการธุรกิจภาพยนตร์ การเขียนบทภาพยนตร์ การออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ การผลิตภาพยนตร์สารคดี การผลิตภาพยนตร์บันเทิง และอื่น ๆ อีกมากมาย ตลอดจนการเรียนการสอนจากคณาจารย์และวิทยากรที่มีประสบการณ์การทำงานจริง ร่วมสร้างองค์ความรู้และมอบประสบการณ์ระหว่างการศึกษา
น้อง ๆ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจในหลักสูตรฯ สามารถยื่น Portfolio ผลงานการถ่ายคลิปหรือหนังสั้น เพื่อเข้ารับการคัดเลือกและสัมภาษณ์โดยทีม Digital Film Teachers เพื่อพิจารณารับทุนการศึกษา The Next Directors สูงสุด 100% ทุนสนับสนุนสร้างหนัง เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ผู้ผ่านการพิจารณารับทุนการศึกษาสามารถเริ่มเรียนได้ในภาคเรียนที่ 1/2565 เริ่มเปิดภาคเรียนใน วันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยสามารถสมัครเรียนออนไลน์ได้ที่ https://www.utcc.ac.th/admission/ สอบถามรายละเอียดได้ที่ LINE OA : @utcccare ศูนย์รับสมัครนักศึกษาใหม่ อาคารสัญลักษณ์ อาคาร 24 ชั้น 2 เปิดทุกวัน เวลา 8.30-17.00 น. โทร.02-6976767