มหาวิทยาลัยรังสิต ให้โอกาสทางการศึกษา มอบ “ทุนคนไทยพลัดถิ่น” แก่ 3 นักศึกษาคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา เพื่อกลับไปดูแลสุขภาวะด้วยกายภาพบำบัดกับชุมชนในพื้นถิ่นของตนหลังสำเร็จการศึกษา

อาจารย์ช่อผกา ดำรงไทย อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงที่มาของทุนคนไทยพลัดถิ่นว่า ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ได้ลงไปในพื้นที่โรงพยาบาลท่าสองยาง และโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ซึ่งเห็นความสำคัญทางด้านนี้พร้อมทั้งเห็นด้วยที่จะรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากความขาดแคลนนักกายภาพบำบัดในพื้นที่

 

 

ทั้งนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ท่านพูดเสมอว่า “การสร้างชาติ สร้างสังคม ต้องเริ่มจากการสร้างคน” โดยเฉพาะการสร้างคนในพื้นที่ที่ขาดโอกาสและมีความเหลื่อมล้ำสูง ทุนสุขภาพชายแดนเพื่อคนชายขอบจึงเป็นทุนการศึกษาที่มอบโอกาสให้กับนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในระบบปกติในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อผลิตนักกายภาพบำบัดที่จะกลับไปดูแลสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิดของตน

“อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโรงพยาบาลมีคนไข้จำนวนมากแต่คนทำงานด้านกายภาพมีน้อย ซึ่งหลังจากนี้อาจจะมีการให้ทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัย หากทางโรงพยาบาลสามารถบรรจุนักกายภาพบำบัดได้ เนื่องจากที่นี่เป็นพื้นที่ห่างไกลที่มีความต้องการ นอกจากนี้ การสื่อสารกับคนไข้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงและชาติพันธุ์อื่นๆ มีข้อจำกัด เราที่เป็นคนต่างวัฒนธรรมเมื่อเข้าไปอยู่ตรงนั้น นอกจากเรื่องภาษาแล้วก็จะมีปัญหาเรื่องความเข้าใจและวัฒนธรรม ดังนั้น การให้ทุนคนในชุมชนเขาเองและคนที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน มีความเข้าใจเรื่องบริบทชีวิต ระบบคุณค่า หรือการใช้ชีวิตของเขาจะง่ายที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ” อาจารย์ช่อผกา กล่าว

นางสาวทิฆัมพร คีรีพิทักษ์ หนึ่งในผู้ได้รับทุนคนไทยพลัดถิ่น จบการศึกษาจากโรงเรียนท่าสองยางวิทยาคม จังหวัดตาก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของทุนนี้ทางโรงพยาบาลท่าสองยาง ได้ประสานงานผ่านครูแนะแนวจึงสนใจมาสมัครขอรับทุน สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ ผู้สมัครจะต้องเรียนสายวิทย์-คณิต มีความประพฤติดี และเกรดเฉลี่ย 2.50 ขึ้นไป

“ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานที่โรงพยาบาลท่าสองยาง ได้เห็นการทำงานของนักกายภาพบำบัด จึงอยากทำงานด้านนี้ โดยส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ได้ทุนเรียนฟรี เมื่อเรียนจบแล้วจะได้กลับไปทำงานที่บ้าน รวมทั้งได้ช่วยทางบ้านประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง โดยทำสัญญากับทางโรงพยาบาลท่าสองยาง เมื่อจบการศึกษาจะกลับมาทำงานที่นี่ ซึ่งที่ผ่านมามีรุ่นพี่ที่ได้รับทุนนี้และปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลท่าสองยางด้วยค่ะ”

 

ด้าน นายกิตติภพ ปินต๊ะ กล่าวว่า ผมเป็นชาวเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทย สำหรับส่วนตัวผมการได้รับทุนในครั้งนี้ จะกลับไปช่วยคนไข้ที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บางทีเวลามาหาหมอแล้วมีการสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกัน บางครั้งหมอให้การรักษาไปอาจจะไม่ถูกจุดที่เขาบอก ผมจึงอยากกลับไปเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลบ้านเกิดตัวเองที่โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก

“ผมเรียนจบ ปวส.ทางด้านกายอุปกรณ์ ที่มูลนิธิขาเทียมเชียงใหม่ ควบคู่กับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสาขาใหม่ตอนที่เรียนนั้นผมเป็นรุ่นที่ 2 หลังจากเรียนจบก็มาทำงานที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งในขณะนั้นมีคนไข้ขาเทียมไม่มาก พี่ๆ นักกายภาพบำบัดจึงให้ผมขึ้นไปช่วยงานด้านกายภาพก็เลยเกิดความชอบ และเขาเห็นว่าเรามีความตั้งใจจึงแนะนำให้มาเรียนทางด้านนี้ ประกอบกับเราได้เห็นคนไข้เป็นจำนวนมากที่มารับการรักษาจึงอยากแบ่งเบาพี่ๆ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน และมักจะมีอาการปวดหลัง ปวดเข่า จากการแบกของหนัก หากเรียนจบไปเราก็จะสามารถไปช่วยงานในโรงพยาบาลได้ ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยรังสิตที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่พวกผมด้วยครับ” นายกิตติภพ กล่าว

นอกจากนี้ยังมี นายสมชาย มูเซอ ซึ่งเป็นชาวเชื้อชาติลาหู่ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จากโรงเรียนสันติคีรีวิทยาคม อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับทุนเดียวกันและมีความมุ่งหวังว่าหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วจะกลับไปดูแลสุขภาวะด้วยกายภาพบำบัดในชุมชนพื้นถิ่นของตนเอง โดยทั้ง 3 คนจะได้รับทุนการศึกษาเรียนฟรีตลอดหลักสูตร 4 ปี พร้อมที่พักและอาหารผ่านคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต และนี่คืออีกหนึ่งบทบาทของสถาบันการศึกษาในความรับผิดชอบต่อสังคม