ในการแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับโลกประจำปี 2022 ของอาลีบาบา (2022 Alibaba Global Mathematics Competition) นักศึกษาและศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (PKU) คว้าชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ รวมทั้งหมด 35 รางวัลจาก 77 รางวัล ตามรายชื่อที่เผยแพร่ไป ณ วันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ในการแข่งขันนี้มีผู้เข้าแข่งขันกว่า 50,000 คนจากหลายสิบประเทศ นักศึกษาและศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งสามารถคว้าชัยชนะเหนือผู้เข้าแข่งขัน โดยสามารถคว้าเหรียญทองได้ 3 คน (มีผู้ได้เหรียญทองทั้งหมด 4 คน), 2 เหรียญเงิน (มีผู้ได้เหรียญเงินทั้งหมด 6 คน), และ 5 เหรียญทองแดง (มีผู้ได้เหรียญทองแดงทั้งหมด 10 คน) ทั้งนี้ยังรวมถึงรางวัลชมเชยอีก 25 รางวัล (มีผู้ได้รางวัลชมเชยทั้งหมด 57 คน) มหาวิทยาลัยปักกิ่งจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่คว้ารางวัลได้มากที่สุดในการแข่งขันปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลเหรียญทองสามคนนั้น ได้แก่ คุณเฉิน เจ๋อคุน (Chen Zekun) นักศึกษาปริญญาเอกจากศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์นานาชาติปักกิ่ง (BICMR) และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง คุณลู่ เวยเซี่ยว (Lu Weixiao) และคุณเหรา เจิ้งห้าว (Rao Zhenghao) ซึ่งในพิธีการประกาศรางวัลนั้น ทั้งสามคนได้เผยความรู้สึกที่พวกเขามีต่อวิชาคณิตศาสตร์
คุณเฉิน เจ๋อคุน (Chen Zekun) ผู้สนใจทางด้านทฤษฎีจำนวน (number theory) กล่าวว่าการทำวิจัยก็เหมือนการคลำทางในเขาวงกตขนาดมหึมาที่มีทางออกเพียงทางเดียว และผู้ที่วิ่งวนในเขาวงกตใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันมุ่งหน้าไปสู่ทางตัน หรือหลงทางระหว่างทางตันหนึ่งกับอีกทางตันหนึ่ง ถึงกระนั้น ผมยังคงทำทุกงานวิจัยด้วยความกระตือรือร้น ไม่ย่อท้อ “เพราะในกระบวนการวิจัย คุณอาจพบช่วงเวลาที่ ‘คิดออก’ ได้มากมาย ซึ่งผมคิดว่ามันคุ้มค่าและสนุกมาก”
คุณลู่ เวยเซี่ยว (Lu Weixiao) ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ MIT แสดงความความภาคภูมิใจอย่างสุดซึ้งต่อมหาวิทยาลัยปักกิ่งและคณิตศาสตร์ “ไม่ได้พูดเกินจริงเลยว่า มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นสวรรค์สำหรับชาวคณิตศาสตร์” เขากล่าวและได้บอกเล่าถึงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ
คุณเหรา เจิ้งห้าว (Rao Zhenghao) บอกเล่าประสบการณ์การวิจัยของตนเองว่า เขาสนุกกับการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ด้วยวิธีการอย่างไร แม้ว่าในบางครั้งวิธีแก้โจทย์เหล่านั้นอาจไม่นำไปสู่ความสำเร็จก็ตาม “ผมพบว่าการแก้โจทย์ปัญหาทางเรขาคณิตค่อนข้างสนุกและให้ผลเป็นรูปธรรม ผมยังสนุกไปกับการวาดกราฟเรขาคณิตอีกด้วย และบางครั้งกราฟที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย สามารถช่วยให้ความคิดของผมชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกวิจัยด้านโทโพโลยีเชิงเรขาคณิต”
นอกจากนี้ ในช่วงเปลี่ยนเวลาของการเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษใหม่ การปรากฏตัวของกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางด้านคณิตศาสตร์ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และกลุ่มคนเหล่านี้ยังเป็นที่จดจำในชื่อว่า”รุ่นยุคทอง”แรงขับเคลื่อนจาก “รุ่นยุคทอง” ส่งต่อไปใน 20 ปี คนรุ่นต่อไปเริ่มพัฒนา เติบโต และส่องประกายมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ เถียน กัง (Tian Gang) ผู้อำนวยการ BICMR กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ชนะการแข่งขันไว้ว่า “นักคณิตศาสตร์แต่ละรุ่นต่างก็มีภารกิจของตัวเอง และนักคณิตศาสตร์รุ่นใหม่แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้แบกรับความคาดหวังใหม่ ๆ ของสังคม พวกเขาอยู่ในยุคทองของชีวิตของเขาเอง” ทั้งนี้ การแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับโลกของอาลีบาบาเปิดรับสมัครผู้มีความหลงใหลในคณิตศาสตร์จากทั่วโลก โดยจัดขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ดึงดูดผู้เข้าแข่งขันกว่า 200,000 คน จากกว่า 70 ประเทศและภูมิภาค