พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกประชุมหน่วยงานด้านป่าไม้ และ 17 จังหวัดภาคเหนือ สั่งการยกระดับมาตรการที่เข้มงวด ปรับรูปแบบ การจัดกำลัง ดับไฟป่า “ปิดป่า” ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”
พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกหน่วยงานจะต้องนำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ทันทีอย่างเต็มที่ โดยต้องพยายามควบคุมกำกับดูแลการจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า ทั้ง 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน รวมถึงพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่สูง และในพื้นที่ราบของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ดังนี้
1. ปรับรูปแบบ การจัดกำลัง ดับไฟป่า ด้วยยุทธวิธี ผสมผสานทั้งการตรึงพื้นที่ด้วยจุดเฝ้าระวัง
และการ ลาดตระเวน การส่งกำลัง และดับไฟโดยอากาศยาน เข้าถึงไฟให้เร็ว ควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้าง คุมแนวไฟและดับให้สนิท ให้วอร์รูมบัญชาการชุดปฏิบัติการดับไฟป่าตลอดเวลาที่มีการเข้าพื้นที่
2. ติดตามสถานการณ์จุดความร้อน สนธิกำลังพลทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และเครือข่าย ทั้งระดับภาคพื้นและอากาศยาน ลาดตะเวน เฝ้าระวัง อย่างเข้มข้น เมื่อพบต้องเร่งปฏิบัติการเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์โดยทันทีแต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ งดการใช้อาสาสมัครที่ไม่ได้รับการฝึกปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย
3. สนับสนุนและบูรณาการทำงานอย่างเต็มที่เป็นหนึ่งเดียว กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดที่มี
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลาง
4. “ปิดป่า” ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ยกระดับการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า
5. พื้นที่เกษตร ต้องติดตามเฝ้าระวังประสานงานกับฝ่ายปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อลดและควบคุมไม่ให้เกิดการเผาและหากเกิดต้องควบคุมให้ได้โดยเร็ว
6. สื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง ทันท่วงทีเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง สร้างความรู้ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”และคำนึงถึง ความปลอดภัย และสุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพื่อพี่น้องประชาชน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลมีข้อห่วงใยในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง แต่ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดริมชายแดนมีค่าค่อนข้างสูง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อนสูง เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีการปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง และตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ได้อนุมัติงบกลาง เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินประมาณ 272 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ก็จะทำให้การปฏิบัติงานในพื้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายจตุพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จะต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยจากนโยบายพลตำรวจเอก พัชรวาทฯ ให้ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมกับภาครัฐได้ดำเนินการร่วมกับ BOI ออกประกาศให้สิทธิและประโยชน์กับภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการป่าเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างยั่งยืน สำหรับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ที่ผ่านมาได้มีการยกระดับการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้กลไกความมั่นคงและความสัมพันธ์ระดับชายแดน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ได้ประชุมกับกัมพูชา เพื่อจัดตั้ง Hotline ระหว่าง 2 ประเทศ และกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมภายในเดือนเมษายน สำหรับประเทศเมียนมา กระทรวงทรัพยากรฯ อยู่ระหว่างการเจรจาโดยใช้กลไกคณะกรรมการชายแดนระดับผู้บัญชาการทหารสูงสุด
“ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในขณะนี้ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีถึงปานกลาง (สีเขียว/สีเหลือง) เริ่มมาตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ จากมาตรการยกระดับน้ำมันยูโร 5 (EURO 5) การควบคุมการเผาในที่โล่งของพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ และการควบคุมแหล่งต้นตอฝุ่น สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีค่าเกินมาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่แนวโน้มค่ารายชั่วโมงเริ่มลดลงในหลายจังหวัด จังหวัดที่ยังคงต้องเฝ้าระวังคือ น่าน แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ซึ่งอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงช่วงวันที่ 10-13 มีนาคม 2567 แต่จะต้องเฝ้าระวังอีกครั้งระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2567 เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศ ลมที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนจะเปลี่ยนเป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศอีกครั้ง ดังนั้น หากสถานการณ์จุดความร้อนในประเทศและนอกประเทศยังคงมีจำนวนที่มากในช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก ในด้านการจัดการไฟในพื้นที่ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช และกรมป่าไม้ ภายใต้การสนธิกำลังกับจังหวัด ฝ่ายปกครอง มีการยกระดับการแก้ไขปัญหา ภาพรวมจุดความร้อนลดลงกว่า 40% มีการปรับกำลังของกระทรวงทรัพย์ฯ จากภูมิภาคอื่นมาอยู่ภาคเหนือหมดแล้ว และหลังจากได้รับการจัดสรรงบกลางจะมีการวางกำลังตามจุดสกัดในพื้นที่เป้าหมายมุ่งเป้าได้เพิ่มขึ้น เน้นการสร้างความเข้าใจให้กับเครือข่ายและให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และสื่อสารกับประชาชนขอความร่วมมือไม่เผาป่า” นายจตุพร กล่าว