มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU ร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กร ผนึกกำลังรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป 2566 พร้อมเทคโนโลยี Crowdfunding ระดมทุนเพื่อสนับสนุนอาสาสมัคร 100,000 คน รายงานผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วย ผ่านแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ เริ่มรายงานผลแต่ละหน่วยเลือกตั้งจากทุกเขตหลังปิดหีบประมาณ 17.15 น. เป็นต้นไป
วันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 9.30-11.30 น. ที่ผ่านมา ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเทศไทย นำองค์กรร่วมจัดงานและพันธมิตรแถลงข่าว โครงการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ) โดยผนึกกำลังร่วมกับ 50 องค์กร ยกระดับแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งซึ่งจะทำให้ทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในเบื้องต้นรอบแรก 2 ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้ง ในเวลา 17.00 น. และคาดว่าจะทราบแนวโน้มสัดส่วนคะแนนแบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคและ ส.ส.เขตที่มีคะแนนนำอันดับหนึ่งครบทุกเขตไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันเลือกตั้ง
โดยตลอดช่วงระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสื่อมวลชนรวมกว่า 34 สำนัก ได้จับมือกับองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพันธมิตร อาทิ สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมเมตาเวิร์สไทย, D-Vote, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการรายงานผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นอนาคตประเทศไทย ขณะที่ทางด้านเทคโนโลยีการพัฒนาได้ทำระบบเชื่อมต่อเครือข่ายอาสาสมัครจากหลายๆ องค์กรให้สามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมอบหมายหน้าที่อาสาสมัครในวันเลือกตั้ง ระหว่างการรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ การถ่ายภาพกระดานนับคะแนน และใบรับรองผลการนับคะแนน ส.ส. ในแต่ละหน่วยเพื่อส่งเข้ามาเก็บไว้ในระบบ Cloud และ Blockchain ในส่วนกลางให้สามารถตรวจสอบได้ภายหลัง
นอกจากนี้ยังได้ออกแบบการบริหารอาสาสมัครไว้ 3 ระดับเพื่อให้การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง และส่งคะแนนเข้าระบบประมวลผลในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องมากที่สุด ได้แก่
ระดับที่ 1 อาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง 400 เขตที่มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 95,000 หน่วย รวมอาสาสมัครประมาณ 100,000 คน ประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง
ระดับที่ 2 อาสาสมัครหัวหน้าเขตเลือกตั้ง 400 เขต และทีมงานที่จะมีการทำงานประสานกันกับ กกต.เขต และ กกต.จังหวัดในการนับคะแนนที่เจ้าหน้าที่ กกต.เขตกรอกเข้าไปในระบบ ETC Report ซึ่งจะมีแนวทางการทำงานร่วมกับบุคลากรในระดับอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
ระดับที่ 3 อาสาสมัครศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง Election Day War Room ซึ่งวอร์รูมจะทำหน้าที่การรวมศูนย์การส่งคะแนนจากอาสาสมัครทั้ง 400 เขต จากอาสาสมัคร 100,000 คน เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้องคะแนนให้ถูกต้องมากที่สุดก่อนส่งเข้าระบบประมวลผลต่อไปของส่วนกลางและเชื่อมโยงไปถึงสำนักข่าวต่างๆ 34 สำนักที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) อาจารย์นิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา เป็นตัวแทนร่วมงานแถลงข่าวและดำเนินการส่งอาสาสมัครลงตามหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งใกล้มหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง โดยหากอาสาสมัครและนักศึกษาท่านใดมีความสนใจจะร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยทางหนึ่ง สามารถเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง และสามารถแจ้งความจำนงมาได้ผ่านทางมหาวิทยาลัย “แอปพลิเคชันการนับคะแนนเอาไว้ช่วยงานผู้สังเกตการณ์ ทำให้คะแนนมีการรวมศูนย์ เพื่อที่จะนำเสนอต่อประชาชนได้แบบเรียลไทม์ ขณะที่ในเรื่องของการร่วมทุนร่วมแรงอาสาสมัคร จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ 2 ด้าน คือ 1. ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งโปร่งใสขึ้น เพราะได้ภาคประชาชนมาช่วยดูเหตุการณ์ในการนับคะแนน ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นแล้ว และ 2. ช่วยสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการทางประชาธิปไตย เนื่องจากก่อนหน้านี้เรามักจะคิดว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. หรือ นักการเมือง ส่วนประชาชนมีสิทธิหน้าที่ในการไปลงคะแนนเลือกตั้งอย่างเดียว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเรามีส่วนรวมอะไรมากกว่านี้ได้ และมันจะก่อเกิดพลังในการลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ช่วยผลักดันประเทศได้” อาจารย์นิติ ระบุ
“ซึ่งผลดีของการที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เข้าร่วมโครงการนี้ จะเป็นการเปิดให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วม ไม่เพียงสร้างความตระหนักรู้จากสื่อ แต่เป็นการได้ลงมือเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ และยังได้ประสบการณ์อีกด้วย เช่นถ้าสายถ่ายภาพก็จะได้รู้ประสบการณ์ว่ามืออาชีพเขาถ่ายภาพกันมุมไหน นำเสนอส่วนไหน รอข่าวจากไหน หรือ สายเทคโนโลยีไปดูการทำงานแอปพลิเคชัน เอาระบบทำงานมาต่อยอดพัฒนากับเรื่องอื่นได้ นอกจากนี้ยังได้เรื่องการทำงานร่วมกับคน ทำงานเป็นทีม ทำงานกับคนเก่งที่มีความหลากหลายและมากฝีมือ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ นอกจากนี้ทาง DPU ก็เตรียมจัดในเรื่องของการดีเบตเชิงนโยบายของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะทำให้นักศึกษาของเรามีความตื่นตัว มีส่วนร่วม ทำให้เขารู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และเราทุกคนคือผู้ที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวหน้าพัฒนา” อาจารย์นิติ กล่าวทิ้งท้าย