บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสาขาใหม่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบันฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่แตกต่างไปจากการเรียนตามหลักสูตรทั่วไป โดยมุ่งเน้นการผลิตกำลังคนดิจิทัลคุณภาพสูงจำนวนมากถึง 300 คนต่อรุ่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบโจทย์ของโลกยุคใหม่ที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งพิธีลงนามความร่วมมือ ได้จับมือร่วมกับอีกกว่า 30 บริษัทชั้นนำ ทั้งองค์กรมหาชน กลุ่มธนาคารการเงิน องค์กรนานาชาติ และองค์กรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

นายนิวัฒน์ กัณวเศรษฐ์ Assistant Managing Director IT Infrastructure กล่าวว่า “NITMX รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเริ่มต้นความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเปิดหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล โดย NITMX จะเข้าไปมีส่วนร่วมตามหลักสูตรที่มหาลัยจัดทำขึ้น รวมถึงจะสนับสนุนด้านทรัพยากรทางด้านไอทีต่างๆ ผ่าน NITMX Infrastructure Lab เพื่อให้นิสิตนักศึกษาและอาจารย์ได้เข้ามาใช้ทรัพยากรทางด้าน IT สำหรับทดลอง พัฒนาโครงการต่างๆ รวมถึงทำงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ ตามที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการ นอกจากนี้ NITMX ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานระบบการชำระเงินที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะในเรื่องของ Digital Payment เราจะนำองค์ความรู้เหล่านี้ช่วยทางมหาลัยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มเติมในด้าน Digital Payment ด้าน Security รวมถึงด้าน Technology ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบใหม่มหาลัยได้มีการบูรณาการขึ้น”

NITMX จับมือ วิศวฯ จุฬาฯ ลงนามความร่วมมือเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดในยุคดิจิทัลศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นรากฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน สถานประกอบการต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลจำนวนมาก ที่มีความรู้ในหลากหลาย และสามารถผสมผสานทักษะการทำงานและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และก้าวทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการอนุมัติหลักสูตร ภายใต้กรอบนโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox) และเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของประเทศจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ” การลงนามความร่วมมือจะทำให้การเรียนในหลักสูตรตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง โดยการทำหลักสูตรแบบ Co-Creation ที่บริษัทเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรจะประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. การฝึกงานในทุกช่วงชั้นปีตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4  2. การเสนอหัวข้อและร่วมพัฒนาโครงงานเพื่อให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์จากปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรมและได้รับคำแนะนำจากภาคอุตสาหกรรมโดยตรง 3. การเปิดสอนวิชาเลือกที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการทำงานจริงในภาคเอกชน โดยบริษัทฯ ร่วมเป็นวิทยากรและพี่เลี้ยง 4. การจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ และ 5. การให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงหลักสูตรอย่างรวดเร็วและก้าวทันต่อเทคโนโลยีในแต่ละปีการศึกษา

โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดีโดยจะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว โดยบัณฑิตเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อองค์กรภาคเอกชนต่อไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ผ่านทาง https://www.itmx.co.th