วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2564) เวลา 13.00 น. รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี) กล่าวเปิดงานเสวนา Dialogue Forum5 : From Paris to Glasgow, the Climate Turning Point? ซึ่งจัดโดยสำนักข่าว Bangkok Tribune สำนักข่าว Thai PBS องค์กรพันธมิตร และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Foundation) โดยรองปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและมีความพยายามสูงสุดในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) มาโดยตลอด โดยมีการดำเนินงานทั้งในระดับประเทศ และมีความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรต่างๆ โดยในปี ค.ศ. 2019 ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าที่ตั้งไว้และก่อนเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-Term Low Emission development Strategy) ให้สำนักเลขาธิการ UNFCCC และมีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนหลัก 4 ประการ ได้แก่ (1) การกำหนดนโยบายและกฎหมาย (2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างภาคีเครือข่ายในทุกระดับ (3) การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ (4) การสนับสนุนการเข้าถึงงบประมาณและกองทุนระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุน
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ภายในงานเสวนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้กล่าวถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ในแง่มุมต่างๆ อาทิรศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ร่วมเขียนรายงาน IPCC กล่าวถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งพบว่า หากต้องการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องมีการลดการปล่อยคาร์บอนที่ร้อยละ 45 ดังนั้น ภายใน 8 ปีข้างหน้า หลายประเทศจะต้องเพิ่มความทะเยอทะยานในการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต UK กล่าวถึงเป้าหมายของ COP26 4 ประการ ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต USA กล่าวถึงความร่วมมือกับประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ซึ่งประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 20 ของโลก แต่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดย USA จะเน้นการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วงภายหลังสถานการณ์ COVID-19
ผู้แทน EU กล่าวถึงการแก้ไขวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการในทุกสาขาพร้อมๆ กัน อาทิ เศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดการขยะ การจัดภาคขนส่ง รวมถึงภาคการเกษตร โดยยกตัวอย่างนโยบาย EU Green Deal ที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน