Airbnb แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ช่วยสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับภูเก็ต ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกพร้อมนำเสนอที่พักหลากหลายรูปแบบโดนใจนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่พร้อมด้วยประสบการณ์สุดพิเศษ
นักเดินทางที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม Airbnb มักมองหาประสบการณ์แบบท้องถิ่นที่แท้จริง และเลือกใช้จ่ายเงินในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่เข้าพัก โดย 12 เดือนที่ผ่านมา นักเดินทางที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม Airbnb เดินทางมาเยือนภูเก็ต 320,000 คน ซึ่งเป็นยอดที่สูงขึ้น 61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้นิยมเข้าพักในรูปแบบโรงแรมบูติก ที่พักตากอากาศ และโฮมสเตย์* (*ข้อมูลจาก Airbnb ในวันที่ 1 มกราคม 2562) โดยผู้เข้าพักกว่า 80% ได้ให้คะแนนในการรีวิวสูงที่สุด 5 ดาว ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ตจากตลาดหลักๆ คือ จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์และอังกฤษ
ทั้งนี้ เนื่องจากอนาคตของภูเก็ตมีความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว Airbnb จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะดึงดูดนักเดินทางหลากหลายแนว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ตระหนักถึงความสำคัญของคนในชุมชนและมีแนวทางการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมซึ่งนักเดินทางรุ่นใหม่เหล่านี้ มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ และมีแนวคิดว่า การท่องเที่ยวที่ดีและมีความหมายเป็นแนวคิดหลักในการใช้ชีวิตของพวกเขา
มิสเตอร์ไมค์ ออร์กิล (Mike Orgill) ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน Airbnb กล่าวว่า “ข้อเสนอของ Airbnb มีความหลากหลายและสอดคล้องกับสิ่งที่ภูเก็ตมอบให้กับนักเดินทางได้ในขณะนี้ นักเดินทางที่ใช้บริการ Airbnb ไม่ใช่นักท่องเที่ยวทั่วไป แต่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มองหาประสบการณ์การเดินทางที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น วิลล่าแนวโมเดิร์น, โรงแรมบูติกสุดครีเอทีฟ, หรือที่พักโฮมสเตย์แบบดั้งเดิม ซึ่งผู้เข้าพักจำนวน 79% ที่จองห้องพักกับ Airbnb เพราะอยากจะลองใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่น และออกไปท่องเที่ยวในละแวกที่เป็นชุมชนท้องถิ่นและใช้จ่ายเงินกับคนที่อยู่ในชุมชนที่พวกเขาได้มีการพูดคุยด้วย ซึ่งนักเดินทางกลุ่มนี้กำลังสร้างมิติใหม่ในเชิงบวกให้กับภูเก็ต และได้รับการต้อนรับจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของภูเก็ต”
ในปีที่ผ่านมาห้องพักบนแพลตฟอร์ม Airbnb ทั่วโลกที่มาจากโรงแรมบูติก, ที่พักแบบ bed & breakfasts, โฮสเทล และรีสอร์ต มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 152% และสำหรับประเทศไทยนั้น Airbnbได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย (Thailand Boutique Accommodation Trade Association: TBAA) เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ทำให้มีโรงแรมบูติกไทยมากกว่า 50 แห่งใน 15 จังหวัด ซึ่งรวมถึงภูเก็ต, กรุงเทพฯ, จันทบุรี, เชียงใหม่, กาญจนบุรี และสุโขทัย ได้เข้าร่วมบนแพลตฟอร์ม Airbnb
หลังจากการลงนามกับ สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย ก็ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการโรงแรมบูติกอย่างท่วมท้น Airbnb ช่วยให้โรงแรมบูติกสามารถเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนในท้องถิ่นซึ่งอันที่จริงคนในชุมชนเองก็มีความต้องการที่จะต้อนรับนักเดินทางแบบเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว ดังนั้นการที่โรงแรมบูติกนำห้องพักขึ้นแพลตฟอร์มของ Airbnb ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ๆ จากเครือข่ายนักเดินทางนานาชาติอย่าง Airbnb ซึ่งปัจจุบันได้ต้อนรับนักเดินทางกว่า 500 ล้านคนนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง Airbnb เมื่อ 10 ปีก่อน
นายณัฐวุฒิ จูฑศรีพานิช เจ้าของโรงแรมบรีซโซเทล ป่าตอง ที่เพิ่งนำห้องพักขึ้นสู่แพลตฟอร์ม Airbnb เปิดเผยว่า “เราเพิ่งนำห้องพักขึ้นสู่แพลตฟอร์ม Airbnb และได้ผลตอบรับที่ดีมีนักท่องเที่ยวจองเข้ามาทันที Airbnb ช่วยให้เราได้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยมีมาก่อน”
ในขณะที่นายวรกานต์ วัฒนสุนทร ผู้จัดการฝ่ายขาย โรงแรมแกลม ฮาบิแทท กล่าวว่า “ก่อนที่จะนำที่พักขึ้นบนแพลตฟอร์ม Airbnb ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว Airbnb ทำให้เราเข้าถึงตลาดต่างประเทศและตอนนี้เราต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้นกว่าเดิม ผู้เข้าพักของ Airbnb เป็นกลุ่มนักเดินทางที่มองหาที่พักและประสบการณ์ในการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และปัจุบันพวกเขาสามารถเลือกพักในโรงแรมบูติกอย่างเช่นโรงแรมของเราได้แล้ว นับได้ว่า เป็นเทรนด์ที่กำลังมีการเติบโตและเป็นทิศทางที่เข้ากันกับข้อเสนอสุดพิเศษของโรงแรมเรา”
นางสาวชนัญชิตา มณีวงศ์วิโรจน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย บลู มังกี้ ฮับ แอนด์ โฮเต็ล ภูเก็ต ให้ข้อมูลเสริมว่า “โรงแรมของเราอยู่บนแพลตฟอร์ม Airbnb มานานหลายปีแล้ว และยอดจองห้องพักมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง Airbnb เป็นแบรนด์ระดับโลก จึงเป็นช่องทางที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาพัก ซึ่งขณะนี้ผู้เข้าพักที่โรงแรมของเราจะเป็นชาวต่างชาติประมาณ80-90% นอกนั้นเป็นนักท่องเที่ยวไทย”