กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานภายใต้สังกัด จัดกิจกรรมทัศนศึกษาเยี่ยมชมตลาดน้อยและสามพรานโมเดลแก่ผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างการจัดประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เพื่อนำเสนอเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมุ่งชูแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่ประเทศไทยผลักดัน “Regenerative Tourism : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน” ให้เป็นแนวทางในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เส้นทางที่ได้รับการคัดสรรมาเพื่อจัดกิจกรรมทัศนศึกษาให้แก่ผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค มี 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทาง City Trip โดยเดินทางไปยังชุมชนตลาดน้อย ย่านเจริญกรุง เพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงามแบบไทย จีน และชาติตะวันตก โดยแวะเยี่ยมชมตรอกศาลเจ้าโรงเกือก ศาลเจ้าโจวชือกง โบสถ์กาลหว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาแรกของประเทศไทย รวมถึงการเดินชมสตรีทอาร์ทตามตรอกซอกซอยของชุมชนตลาดน้อย จากนั้น พาชมทัศนียภาพรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดย Thai Bus Food Tour พร้อมนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วยการเสิร์ฟเมนูอาหารกลางวันระดับมิชลิน และปิดท้ายด้วยการนำผู้เข้าร่วมประชุมเรียนรู้ภูมิปัญญาการนวดแผนไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 2) เส้นทาง Local Trip นำเสนอวิถีชุมชนเกษตรอินทรีย์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของสามพราน-ศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยนำผู้เข้าร่วมประชุมเยี่ยมชมฐานเรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ และสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Regenerative Tourism จากนั้นสนุกกับกิจกรรมสอนทำอาหารไทยจากวัตถุดิบออร์แกนิกสดจากฟาร์ม และประดิษฐ์ของที่ระลึกจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ และ ถุงผ้าตอกลายดอกไม้ จากนั้นนำผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางไปยังอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเรียนรู้กระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และการส่งเสริมแนวคิด Low Carbon
นอกจากการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ.2565 ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับคณะทำงานเอเปคด้านการท่องเที่ยว ครั้งที่ 60 ภายใต้หัวข้อ “Creative Placemaking : Regenerative Approach, Better Lives Through Better Places” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ณ ‘GalileOasis’ ซึ่งเป็นอาคารอายุ 40 ปี ขนาดเล็กในถนนบรรทัดทองที่ได้ซ่อมแซมและปรับโฉม ให้กลายเป็นร้านกาแฟ โรงละคร แกลเลอรี่ และโรงแรม จนเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีความสวยงาม ผ่อนคลาย และใกล้ชิดธรรมชาติ โดยการประชุม
เชิงปฏิบัติการจัดขึ้นเพื่อนำเสนอและสร้างความเข้าใจต่อแนวคิดที่จะเป็นผลลัพธ์ความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวของไทย คือ การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิมหรือ การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (APEC Policy Recommendations for Tourism of the Future: Regenerative Tourism) เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อแสดงความสร้างสรรค์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สะท้อนแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) และกระจายรายได้การท่องเที่ยวให้แก่เศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ซึ่งช่วงท้ายของการระดมสมองคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวเอเปคได้มีการทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์เพื่อออกแบบและนำเสนอเกี่ยวกับความหมายของการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ตลอดช่วงระยะเวลาของการจัดประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร ยังได้นำเสนอเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ และภูมิปัญญาเฉพาะพื้นที่ ในรูปแบบนิทรรศการที่มีชีวิต (live exhibition) ภายใต้ 3 หัวข้อ ได้แก่ “สมุนไพรทรงคุณค่า” สาธิตการทำลูกประคบ/ ยาดมสมุนไพร และการนวดประคบสมุนไพร รวมถึงการนำเสนออาหารและเครื่องดื่มที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ “มหัศจรรย์มะพร้าว” นำเสนอวิถีชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัตถุดิบพื้นถิ่นอย่าง มะพร้าว มาประกอบอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าท่องเที่ยว เช่น กาแฟสดน้ำกะทิ ขนมหวาน และ ผ้ามัดย้อมจากสีกาบมะพร้าว และ “อรรถประโยชน์แห่งบัว” นำเสนอ เมี่ยงคำกลีบบัว และเครื่องดื่มจากบัว รวมถึงนำเสนอศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านของที่ระลึกที่ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากเสื่อกก ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า จ.นครพนม ที่มีการออกแบบลวดลายสีสันให้สวยงามและร่วมสมัย เพื่อตอกย้ำแนวคิดของการประชุมในครั้งนี้พร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมีความหมาย (Meaningful Travel) สู่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค