LINE แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานประจำสูงสุดในประเทศไทย เผยกลยุทธ์สู่ความสำเร็จของแบรนด์ไทยชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่สามารถปรับตัวรับ New Normal หรือความปกติใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยการสร้างประสบการณ์การให้บริการและนำเสนอสินค้ารูปแบบใหม่ที่ครบลูปการทำการตลาดถึงผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ผ่านเครื่องมือและฟังก์ชั่นต่างๆ จากแพลตฟอร์ม LINE พร้อมแนะนำแบรนด์ต่างๆ ให้พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลงด้วยกลยุทธ์แบบ ‘Growth Strategy’ เพื่อเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปในการทำธุรกิจออนไลน์อย่างยั่งยืน
ใช้ LINE สร้างประสบการณ์สินค้ารูปแบบใหม่
- LIVE เครื่องมือประจำของแม่ค้าออนไลน์ สู่การเป็นเครื่องมือใหม่ของแบรนด์ใหญ่ที่ห้ามละเลย
ปัจจุบันไม่เพียงแค่ผู้ค้ารายย่อยหรือ SME ที่เลือกใช้ LIVE ในการขายของ แบรนด์ใหญ่เริ่มหันมาใช้ LIVE เพื่อปิดการขาย (Conversion) หรือสร้างประสบการณ์สินค้าในรูปแบบใหม่ ต่างจากเดิมที่ใช้ LIVE เพื่อสร้างการรับรู้ (Awareness) เท่านั้น ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่ใช้ LIVE บน LINE OA เป็นเครื่องมือและประสบความสำเร็จ เช่น Homepro ใช้ LIVE เป็นช่องทางช่วยปิดการขาย ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าที่นำเสนอ หรือ Big C ที่ยกระดับการทำคอนเทนต์ใน LIVE บน LINE OA โดยคัดเลือกสินค้าที่คาดว่าเป็นที่ต้องการระหว่างช่วงล็อกดาวน์มานำเสนอใน LIVE
- Mission Sticker รูปแบบใหม่ของ Sponsored Sticker
Mission Sticker คือการเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้บริโภคทำตามเพื่อรับสติกเกอร์ไปใช้ฟรี เป็นการสร้างประสบการณ์สินค้าหรือแบรนด์ในรูปแบบของคาแรคเตอร์ที่บ่งบอกตัวตน ภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างโดดเด่น แตกต่างจากเดิม เช่น แบรนด์ LION ได้ออกแบบเงื่อนไขในการรับสติกเกอร์ด้วยการให้ผู้บริโภคตอบแบบสอบถาม นำมาสู่ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ที่แบรนด์สามารถนำไปต่อยอดเพื่อวิเคราะห์การสื่อสารและแคมเปญการตลาดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ใช้ LINE สร้างประสบการณ์บริการรูปแบบใหม่
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกแบรนด์ต้องปรับตัวเพิ่มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและช่องทางออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้จำนวนของธุรกิจบน LINE Official Account (LINE OA) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมียอดธุรกิจไทยที่ใช้งาน LINE OA แล้วเกิน 4 ล้านบัญชี โดย 3 กลุ่มธุรกิจที่มีการสื่อสารผ่าน LINE OA สูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี คือ กลุ่มค้าปลีก การเงินการธนาคาร และโทรคมนาคม แต่หากดูเฉพาะช่วงล็อกดาวน์จะพบว่ากลุ่มธุรกิจยานยนต์ องค์กรภาครัฐ ตามมาด้วยธุรกิจค้าปลีกกับ อาหารและเครื่องดื่ม คือ
4 กลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตของการสื่อสารผ่าน LINE OA เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยสองอันดับแรกมีอัตราเติบโตประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มค้าปลีกกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่เน้นการเดลิเวอรี่โตขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์
ใช้ LINE ขยายประสบการณ์รับชมโฆษณาบนพื้นที่ใหม่
การใช้ LINE บน Desktop เติบโตมากขึ้นถึง 264 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา LINE จึงสร้างพื้นที่โฆษณาที่เรียกว่า ‘Smart Channel’ บน Desktop เพื่อรองรับการเติบโตที่เกิดขึ้น ซึ่งมีแบรนด์ใหญ่อาทิ Nissan ให้ความสนใจและเลือกลงโฆษณาผ่านช่องทางใหม่นี้
นางสาวศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล ผู้อำนวยการธุรกิจองค์กร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วช่วงล็อกดาวน์ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งนัก แต่เมื่อผู้บริโภคคุ้นเคยกับความปกติใหม่หรือ New Normal แล้วก็ยากที่จะกลับไปเป็นแบบเดิมอีก แบรนด์ที่กล้าเปลี่ยนและเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้
จะมีเวลาปรับตัวและได้เปรียบกว่าแบรนด์ที่ยังจำกัดตัวเองในช่องทางเดิม ด้วยเหตุนี้ LINE จึงมุ่งสนับสนุนให้ทุก
แบรนด์มีกลยุทธ์แบบ Growth Strategy บนโลกออนไลน์ได้ บนแพลตฟอร์ม LINE ที่ตอบโจทย์แบรนด์ ผู้บริโภค และคนไทยทุกคน”
โดย LINE ได้แนะนำ 3 กลยุทธ์สำคัญแบบ “Growth Strategy” สำหรับแบรนด์ต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปในการทำธุรกิจออนไลน์อย่างยั่งยืนแม้จะผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่สิ้นสุดลง ดังนี้
- สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ (Creativity makes ‘Brand Love’)
ความคิดสร้างสรรค์คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์สร้างความแตกต่างในโลกออนไลน์ ด้วยการสร้างเรื่องราวและรูปแบบการเล่าเรื่องของสินค้าหรือตัวแบรนด์ให้โดดเด่น สร้างสรรค์ ไม่ซ้ำใคร พยายามสร้างการสื่อสารตัวตนของแบรนด์ สินค้าด้วยรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์กว่าเดิม ผ่านเครื่องมือใหม่ๆ จาก LINE เพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ อาทิ Sponsored Sticker, การพาร์ทเนอร์กับ LINE Melody, LINE SHOPPING หรือ LINE MAN
- วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย (User Segmentation & Personalization)
พฤติกรรมของผู้บริโภคบนโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเสมอ การสื่อสาร 1 ข้อความสู่ลูกค้าทั้งหมด (1 to many users) ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ส่งผลให้แบรนด์ต้องทำการบ้านหนักกว่าเดิม โดยแบรนด์จำเป็นต้อง
- เก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ‘แต่ละคน แต่ละกลุ่ม’ (Segmentation) ให้มากขึ้น
- ไม่วิ่งตามเทรนด์ สร้างเทรนด์ให้ผู้บริโภค ‘แต่ละคน แต่ละกลุ่ม’ (Set trend to each segmentation) โดยอาจจับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อน แล้วจึงต่อยอดขยายสู่กลุ่มอื่น
- สื่อสารสู่ผู้บริโภค ‘แต่ละคน แต่ละกลุ่ม’ ให้แตกต่างกันเพื่อดึงดูดให้เกิดการมีส่วนร่วม นำไปสู่การปิดการขายที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม (Personalization)
- สร้างประสบการณ์ใหม่บนโซเชียลคอมเมิร์ส (New experience on Social Commerce)
การปรับตัวของแบรนด์ใหญ่บนโซเชียลคอมเมิร์สไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่บนโซเชียลคอมเมิร์สให้ผู้บริโภครู้สึกประทับใจ แบรนด์ที่ปรับตัวและริเริ่มก่อน จะได้รับความสนใจและมีตัวตนบนโลกดิจิทัลในฐานะของ ‘ผู้บุกเบิก’ หรือ ‘ผู้ปฏิวัติวงการ’