ภายในงานเปิดตัวโซลูชันการพัฒนาสีเขียว (Green Development Solution Launch) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 2 ของงาน “วิน-วิน: หัวเว่ย อินโนเวชัน วีค” (Win-Win·Huawei Innovation Week) ไรอัน ติง (Ryan Ding) ประธานแคริเออร์ บิสซิเนส กรุ๊ป (Carrier Business Group) ของหัวเว่ย ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ดำเนินงานต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพด้านพลังงานเป็นอันดับแรก และเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบชี้วัดประสิทธิภาพพลังงานระดับมาตรฐานทั่วทั้งอุตสาหกรรม ในระหว่างการกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสีเขียวเพื่อคุณค่าใหม่” (Green ICT for New Value)
คุณติง อธิบายว่า “ทุกความก้าวหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์มาพร้อมกับการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของการส่งข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการรับส่งข้อมูลอันมหาศาลจะกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องแก้ไขในอีก 5-10 ปีข้างหน้า การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจะเป็นหนทางแก้ไขในอนาคต” ข้อมูลการวิจัยของบุคคลที่ 3 ระบุว่า การรับส่งข้อมูลที่เกิดจากบริการดิจิทัลมีแนวโน้มเติบโตถึง 13 เท่าภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งหมายความว่าหากไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานแล้ว การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ระบุว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 45% ภายในปี 2573 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
คุณติง กล่าวว่า “ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่หลวง โดยในขณะที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ความต้องการข้อมูลก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ซึ่งย่อมส่งผลให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน โลกทั้งใบกำลังทำงานเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต้องบรรลุจุดสูงสุดของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเร่งด่วน” การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานใน 3 ด้าน ประการแรกคือการโยกย้ายผู้ใช้งาน การอัปเกรดไซต์ และการลดพลังงานเครือข่ายจะทำให้พวกเขาประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ประการที่สอง การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานจะสนับสนุนการโยกย้ายผู้ใช้บริการ 2G และ 3G ไปยัง 4G และ 5G ประการที่สาม ความพยายามของผู้ดำเนินงานในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยให้พวกเขารับผิดชอบต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้น
เพื่อช่วยให้ผู้ดำเนินงานบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประการนี้ หัวเว่ยจึงได้เสนอโซลูชัน 3 ชั้น ได้แก่ ไซต์สีเขียว เครือข่ายสีเขียว และการดำเนินงานสีเขียว ประการแรก พวกเขาได้พัฒนาโซลูชันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยการใช้การออกแบบที่มีการบูรณาการขั้นสูง การใช้วัตถุดิบใหม่ ตลอดจนการย้ายอุปกรณ์หลักและหน่วยจ่ายไฟไปอยู่นอกอาคาร ประการที่สอง สถาปัตยกรรมเครือข่ายที่เรียบง่ายของบริษัทช่วยให้การส่งต่อรวดเร็วขึ้นและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายที่เรียบง่าย ใช้แสงล้วน และชาญฉลาด ประการสุดท้าย ในระดับปฏิบัติการ หัวเว่ยเสนอโซลูชันที่สร้างและกระจายนโยบายการปรับให้เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นที่เข้าใจและจัดการได้ดียิ่งขึ้น จนถึงขณะนี้ โซลูชันการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ถูกนำมาปรับใช้กับผู้ดำเนินงานในกว่า 100 ประเทศ โดยในเยอรมนี โซลูชันพาวเวอร์สตาร์ (PowerStar) ของหัวเว่ยได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานด้วยตัวเองในระดับนาที ซึ่งพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้อย่างยอดเยี่ยม ส่วนในสเปน โซลูชันการเชื่อมต่อข้ามสายด้วยแสง (OXC) ของหัวเว่ย ได้รับการติดตั้งบนเครือข่ายแกนหลักของลูกค้า โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ถึง 81% และลดต้นทุน 29% ขณะที่ในตุรกี หัวเว่ยได้ปรับใช้โซลูชันไซต์สีเขียวสำหรับลูกค้า โดยที่ห้องอุปกรณ์จะถูกแทนที่ด้วยตู้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องอุปกรณ์และเครื่องปรับอากาศ โซลูชันนี้คาดว่าจะประหยัดไฟฟ้าได้ 19,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อไซต์ต่อปี
หัวเว่ยและพันธมิตรผู้ดำเนินงานกำลังทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่ม “รอยฝ่ามือคาร์บอน” (carbon handprint) ด้วยการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจะช่วยให้พวกเขาสามารถลดการปล่อยมลพิษได้มากกว่าที่ปล่อยออกมาถึง 10 เท่า เรื่องราวความสำเร็จมากมายแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ท่าเรือ เหมืองถ่านหิน และเหล็กกล้า ในตอนท้ายของการกล่าวปาฐกถา คุณติงได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบชี้วัดที่เป็นหนึ่งเดียวและครอบคลุมทั่วทั้งอุตสาหกรรม เนื่องจากสิ่งนี้จะช่วยสร้างพื้นฐานสำหรับการวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และใช้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสีเขียวโดยรวม คุณติงกล่าวปิดท้ายว่า “หัวเว่ยพร้อมแล้วที่จะทำงานร่วมกับผู้ดำเนินงานและสร้างคุณค่าใหม่ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ระบบชี้วัดประสิทธิภาพพลังงาน NCIe ที่เสนอโดยหัวเว่ยได้รับการอนุมัติจาก ITU-T SG5 แล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือสาธารณะ ทั้งนี้ งานกิจกรรม “วิน-วิน: หัวเว่ย อินโนเวชัน วีค” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 กรกฎาคม ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน โดยร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และผู้นำทางความคิด พร้อมทั้งเจาะลึกในประเด็นต่าง ๆ เช่น 5.5G, การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประมวลผล และการพลิกโฉมเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเปิดจินตนาการถึงความสำเร็จร่วมกันในเศรษฐกิจดิจิทัล ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://carrier.huawei.com/en/events/winwin-innovation-week