หัวเว่ย (Huawei) และบริษัท ส่านซี โคล อินดัสทรี จำกัด (Shaanxi Coal Industry Co., Ltd.) หรือส่านซีโคล (Shaanxi Coal Company) ได้ร่วมกันพัฒนาโซลูชันเหมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี 5G และอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ซึ่งมีอายุการใช้งานอย่างต่อเนื่องครบรอบหนึ่งปีเมื่อไม่นานมานี้โซลูชันดังกล่าวใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น 5G การประมวลผลคลาวด์ และเอไอ รวมถึงการทำงานเชิงดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัยในการดำเนินงานภายในเหมืองของส่านซีโคล นับเป็นกรณีการใช้งานตัวอย่างสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองอัจฉริยะทั่วโลก และสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการนำอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรมไปใช้ร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ
โซลูชันดังกล่าวได้ผสานรวมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ากับทุกขั้นตอนของกระบวนการทำเหมืองถ่านหิน เพื่อกำจัดการแยกส่วนของข้อมูลและแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน โดยสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างชาญฉลาด ทั้งในเรื่องการรับประกันความปลอดภัย การผลิต การดำเนินงาน การอนุรักษ์พลังงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และระบบอื่น ๆ รวมถึงยกระดับประสิทธิภาพการสำรวจทางธรณีวิทยา การขุดอุโมงค์ การทำเหมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย โซลูชันดังกล่าวยังเป็นโซลูชันแรกที่ใช้แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรมที่ประกอบด้วยสถาปัตยกรรม 3 ระดับ ได้แก่ ส่านซีโคล บริษัทในเครือ และตัวเหมืองถ่านหินเอง แพลตฟอร์มนี้เปิดโอกาสให้จัดการและควบคุม ตรวจจับอัจฉริยะ และตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันได้
คุณสวี่ จวิน (Xu Jun) ซีทีโอประจำหน่วยธุรกิจเหมืองของหัวเว่ย เปิดเผยว่า หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับเหมืองถ่านหินหงลิ่วหลิน (Hongliulin) และเซียวเป่าตัง (Xiaobaodang) ของบริษัทส่านซีโคล เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติและการใช้งานใหม่ที่ตรงตามข้อกำหนดของการผลิตถ่านหินโดยเฉพาะ ในกระบวนการนี้ หัวเว่ยได้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาทั้งในด้าน 5G เอไอ คลาวด์ บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีอื่น ๆ รวมถึงความสามารถในการบูรณาการทรัพยากรทั่วโลก ความร่วมมือครั้งนี้ได้สร้างมาตรฐานใหม่สำหรับเหมืองอัจฉริยะให้แก่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดโซลูชันเหมืองอัจฉริยะที่สามารถจำลองภาพเหมืองเสมือนจริงที่ทำหน้าที่เป็นฝาแฝดดิจิทัลของเหมืองใต้ดิน สร้างมูลค่าที่มากขึ้นด้วยข้อมูลการขุดจำนวนมหาศาลด้วยวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังนำโซลูชันดังกล่าวมาใช้ เหมืองถ่านหินหงลิ่วหลินลดจำนวนคนงานที่ปฏิบัติงานใต้ดินลงได้ถึง 18% นอกจากนี้ กว่า 97.7% ของหน้าเหมืองในปัจจุบันยังรองรับการทำเหมืองอัจฉริยะ รวมถึงมีการจัดการอัจฉริยะสำหรับหน้าเหมืองใต้ดิน โดยการต่อวิดีโอ (video splicing) และการสนทนาทางวิดีโอแบบ 5G อุปกรณ์มากกว่า 2,700 ชุดในเหมืองสามารถเชื่อมต่อถึงกันโดยใช้มาตรฐานข้อมูลแบบรวม โดยมีข้อมูลกว่า 170 ล้านชิ้นที่สตรีมไปยังส่วนกลางทุกวัน ข้อมูลเหล่านี้ใช้สร้างแบบจำลองดิจิทัลมากกว่า 100 แบบ รวมถึงนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านการผลิตและการดำเนินงาน และพัฒนาการใช้งานเชิงดิจิทัลใหม่ ๆ ด้วยเครื่องมือพัฒนาที่ “ไม่ต้องใช้โค้ด”
ในขณะเดียวกัน เหมืองถ่านหินเซียวเป่าตังยังใช้ 5G และเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่นกัน เพื่อสร้างกระบวนการ อุปกรณ์ และการจัดการเหมืองอัจฉริยะ ซึ่งช่วยยกระดับความปลอดภัยในการดำเนินงานและประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมาก รวมถึงลดจำนวนคนงานใต้ดินลงถึง 42% สถานที่สำคัญภายในเหมือง เช่น ห้องสูบน้ำใต้ดินและสถานีไฟฟ้าย่อย สามารถดำเนินงานอย่างชาญฉลาดโดยไม่ต้องมีผู้คุมได้ โดยอาศัยการตรวจสอบเครื่องจักรและการทำงานร่วมกันผ่านวิดีโอ ในแง่ของความปลอดภัยในการผลิตนั้น อุปกรณ์ตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ตรวจจับและแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการสะสมตัวของแก๊ส การเกิดไฟไหม้ น้ำท่วม ปัญหาการระบายอากาศ และเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา รวมถึงสร้างการเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้สามารถทำการตัดสินใจด้วยข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น และยกระดับการจัดการความปลอดภัยภายในเหมืองได้อย่างมาก
คุณสวี่ กล่าวว่า “อินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรมเป็นรากฐานของเหมืองอัจฉริยะ หน่วยธุรกิจเหมืองของหัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรและองค์กรด้านเหมือง เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่เหมืองทุกแห่ง และสร้างเหมืองอัจฉริยะด้วยอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว หัวเว่ยกำลังเดินหน้าให้บริการดิจิทัลแก่องค์กรเหมืองถ่านหินและเหมืองโลหะรายใหญ่ ๆ ทั่วโลก เพื่อให้จัดการเหมืองอัจฉริยะได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้คนงานใต้ดินน้อยลง