หัวเว่ย (Huawei) และบีแคช (bKash) พร้อมกระชับความร่วมมือในบังกลาเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และช่วยให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ บีแคช ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการทำธุรกรรมผ่านระบบเครือข่ายมือถือรายใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ ให้บริการทางการเงินผ่านมือถือแก่ผู้คน 68 ล้านคน และให้บริการแก่ทุกครอบครัวในบังกลาเทศ โดยหัวเว่ยพร้อมยกระดับบริการของบีแคชด้วยโซลูชันการเงินดิจิทัลที่ล้ำสมัย สำหรับการดำเนินการก้าวต่อไป คุณพาน จุนเฟิง (Pan Junfeng) ประธานของหัวเว่ยภูมิภาคเอเชียใต้และซีอีโอของหัวเว่ยบังกลาเทศ และคุณคามัล ควอเดียร์(Kamal Quadir) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบีแคช ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ที่หัวเว่ย บังกลาเทศ อคาเดมี (Huawei Bangladesh Academy) เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ในกรุงธากา
คุณคามัล ควอเดียร์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบีแคช กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หัวข้อ “สมาร์ตฟินเทค: เพื่อการเข้าถึง นวัตกรรม และสร้างแรงบันดาลใจสู่บังกลาเทศ” (Smart Fintech: Inclusive. Innovative. Inspiring Bangladesh) โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรในครั้งนี้
คุณคามัล กล่าวว่า “บริการทางการเงินที่ครบครันและทั่วถึงเป็นส่วนหนึ่งในหัวใจหลักของบีแคช นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดขึ้น เราได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเงินดิจิทัลและก้าวสู่การเป็นชาติอัจฉริยะ (Smart Nation) ความพยายามร่วมกันของบีแคชและหัวเว่ยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันการเข้าถึงบริการทางการเงินและขจัดความยากจน เพื่อใช้โซลูชันล้ำสมัยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)”หัวเว่ยพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟินเทค (FinTech) อย่างต่อเนื่อง และนำแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นไปใช้ในกว่า 30 ตลาดทั่วเอเชียและแอฟริกา โดยรวมแล้ว โซลูชันฟินเทคของหัวเว่ยมีผู้ใช้งานมากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก
คุณพาน จุนเฟิง ประธานของหัวเว่ยภูมิภาคเอเชียใต้และซีอีโอของหัวเว่ยบังกลาเทศ เปิดเผยว่า ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างหัวเว่ยกับบีแคชในบังกลาเทศ มีเป้าหมายเพื่อผลักดันความเท่าเทียมทางดิจิทัลในประเทศ คุณพาน กล่าวว่า “หัวเว่ยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับบีแคชมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อทำให้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MFS) เป็นรูปแบบดิจิทัลด้วยแพลตฟอร์มโมบายล์มันนี (Mobile Money) ชั้นนำ แพลตฟอร์มดังกล่าวให้บริการต่าง ๆ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (e-wallet) และสินเชื่อนาโน (Nano-loan) นำความครอบคลุมทางการเงินและนวัตกรรมมาสู่ชุมชนท้องถิ่น สำหรับก้าวต่อไปนั้น เราจะร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมอำนาจและช่วยให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นในบังกลาเทศสามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการพัฒนา ผมเชื่อว่าการเป็นพันธมิตรของเราจะผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในบังกลาเทศ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องของการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในภูมิภาค”
คุณซาร์เดอร์ เอ็ม อซาดุซซามาน (Sarder M Asaduzzaman) ผู้ช่วยผู้แทนประจำโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) กล่าวที่งานโดยเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อพัฒนาและบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า “ความคิดริเริ่มในการใช้สมาร์ตฟินเทคส่งเสริมการเข้าถึง นวัตกรรม และสร้างแรงบันดาลใจสู่บังกลาเทศ มีความสำคัญและให้ข้อมูลเชิงลึกมากมาย ผมเชื่อว่าทั้งหัวเว่ยและบีแคชเห็นตรงกันและกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งการเป็นพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายจะช่วยสนับสนุนความคิดริเริ่มเรื่องนี้ทั้งหมด”
คุณซูซาน ไวซ์ (Susan Vize) เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานธากา กล่าวว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนคือเป้าหมายสุดท้าย เป็นสิ่งที่เราต้องการไปให้ถึงในคริสต์ทศวรรษ 2030 เราอยู่บนเส้นทางนี้แล้ว และความร่วมมือด้านสมาร์ตฟินเทคนี้จะเป็นพาหนะนำพาเราไปสู่จุดนั้น”