ประสบการณ์การใช้บริการโรงพยาบาลแบบเดิมที่เต็มไปด้วยการ “รอ” นับตั้งแต่นาทีแรกที่เดินทางมาถึงโรงพยาบาลไปจนถึงการรับยาแล้วกลับบ้านรวมถึงการทำงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่เวชระเบียนไปจนถึงแพทย์พยาบาลและเภสัชกรที่เต็มไปด้วยเอกสารและภาระงานที่ซ้ำซ้อนกำลังจะเปลี่ยนไป โรงพยาบาลสระบุรีลงนามความร่วมมือกับบริษัท เอช แล็บ จำกัดเพื่อพัฒนาแผนปรับปรุงกระบวนการรูปแบบใหม่ (Lean Process) เตรียมยกระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลก้าวเข้าสู่การเป็น SmartHospital ภายในปี 2566 โดยทำการลงนาม ณ ห้องประชุมศิริพานิช ชั้น 6 โรงพยาบาลสระบุรี
ภายในงานมีบุคคลที่สำคัญต่อวงการสาธารณสุขของประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก ได้แก่
- นายแพทย์ พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 เป็นประธาน
- นายแพทย์กฤษณ์ สกุลแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ที่มาร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
- อ.ดร.นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย มาร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
- แพทย์หญิง อังคณา อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระพุทธบาท
- กลุ่มผู้บริหารจากสำนักงานพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย ได้แก่ นายแพทย์เทียม อังสาชนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี
- นายแพทย์ ดาวฤกษ์ สิทธุวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นายแพทย์รัฐ ปัญโญวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ
- คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานโรงพยาบาลสระบุรี
ที่ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้
“ทำไมโรงพยาบาลต้องเปลี่ยนแปลง? ผมอยากให้ทุกคนนึกย้อนไป 14 ปีที่แล้วตอนที่มีสมาร์ทโฟนตัวแรก ถ้าในวันนั้นไม่เกิดการก้าวออกจากกรอบเดิมๆ โทรศัพท์ก็คงไม่ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้เหมือนทุกวันนี้ ด้านสาธารณสุขเองก็มีนวัตกรรมหลากหลายทั้ง Medical Device, Smart Device, Internet of thing และ Application ชัดเจนที่สุดก็เช่น แอปพลิเคชั่นหมอพร้อม สมัยก่อนเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราฉีดวัคซีนแล้ว เราต้องพกสมุดเล่มหนึ่งตลอดตอนนี้สามารถเช็คได้แค่กดเข้าไปในโทรศัพท์เท่านั้นเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งจริงๆแล้วมันมีโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมากที่โรงพยาบาลต้องปรับปรุงเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์และรองรับการให้บริการสุขภาพที่ดีขึ้นได้ เช่นถ้าเราสวมใส่ smart watch แล้วเราเกิดหกล้มขึ้นมา แอปก็ต้องแจ้งเตือนให้ Ambulance มารับเราแล้วนี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราคิดกันไปเอง องค์กรระดับโลกต่างๆ ก็ใส่ใจกับ E-Health มากขึ้นในช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมาก็เกิดบริษัท Health Tech มากมายที่เข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาลความจำเป็นที่จะต้องก้าวเข้าสู่การเป็น Smart Hospital ไม่ใช่เรื่องที่เราคิดไปเองแต่มันกำลังเป็นเทรนด์ของโลก”
นายแพทย์ภาณุพงศ์ ตันติรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านสารสนเทศโรงพยาบาลสระบุรีกล่าวถึงเหตุผลของการปฏิรูปการทำงานของโรงพยาบาลไปสู่ Smart Hospitalในขณะที่นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ก็กล่าวถึง “NextEra” ก้าวต่อไปของโรงพยาบาลสระบุรี เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
“โรงพยาบาลสระบุรีของเราเคยเป็นที่ดูงานของอีกหลายๆ โรงพยาบาล ตอนนี้ไม่ใช่แล้วเพราะเราเองก็มี Painpoint จากที่เคยพบปัญหา Ransomware แต่เราได้แก้ไขรื้อระบบใหม่ตามนโยบาย Zero Trust ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย ในขณะเดียวกันเราเป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีพันธกิจที่ต้องรักษามาตรฐานในการทำงานให้สะดวกเติบโตและยั่งยืน เรามีรากฐานที่ดีแล้วคือบุคลากร แต่ขาดอีกเรื่องคือกำลังด้านไอที ส่วน Smart OPD หรือSmart Hospital ที่ผ่านมาอาจจะยังเป็นแค่ Event ผมมองว่ารากฐานมันต้องวางใหม่หมดเราต้องเข้าถึงข้อมูลและสามารถทำงานได้ทุกที่ แต่ Security ต้องมีด้วย ต้องใช้ Softwareที่มีความยืดหยุ่นและช่วยเราทำงานได้ ไม่ใช่ออกแบบมาแล้วตายตัว ต้อง Friendly กับการใช้งานของบุคลากรจริงๆ ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้สามารถแก้ไขได้ ซึ่งทีมผู้บริหารก็ใช้เวลาตลอด 2ปีออกไปตามหา ก็มาลงตัวที่บริษัท H Lab เพราะวิธีการทำงานเป็นการพัฒนาร่วมกัน ไม่ได้ตั้งใจขายของแล้วก็ไป ทีนี้พอท่านได้ Software ที่ดี ท่านก็จะทำงานได้ง่ายมีความสบายใจ เป็นความตั้งใจของทีมผู้บริหารจะทำให้การทำงานแบบ Smart Hospital มันมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น” ฟากตัวแทนจาก H Lab กมลวัทน์ สุขสุเมฆ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอช แล็บ จำกัดที่เชี่ยวชาญในการใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและบริการที่ช่วยปรับระบบการทำงานให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐมาแล้ว ก็ได้แสดงทัศนะว่าการทำงานในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ Software แต่ถือเป็นการ Re-Engineering ระบบการทำงานในโรงพยาบาลก็ว่าได้
“Engineer คือการสร้าง ส่วน Re นั้นแปลว่าการทำใหม่ พอรวมกันมันจึงแปลว่า สร้าง ประกอบ หรือปรับแก้สิ่งใหม่เพื่อให้มันตอบโจทย์กับงานเดิมแต่ทำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าเป็นการออกแบบโรงงานเขาก็จะเอาตัวเลขมาใช้คำนวณ ว่าจะต้องใช้เครื่องจักรเท่าไหร่ ใช้คนเท่าไหร่ผลิตเท่าไหร่ ที่มันยังมีกำไรและได้คุณภาพ หรือธนาคารซึ่งเริ่มมีการ Re-Engineering แล้วจะเห็นได้ว่าเราไปธนาคารกันน้อยมากเพราะเราเข้าถึงบริการได้จากทุกที่ กระทั่งในอุตสาหกรรมการบินเขาต้องวางแผนว่าจะจัดตารางการบินยังไง จัดตารางบุคลากรยังไง เพื่อให้ผู้ใช้บริการถึงที่หมายได้ปลอดภัยในขณะที่นักบินมีชั่วโมงการทำงานที่จำกัด ในมุมของโรงพยาบาล โจทย์ที่เราต้องการคือ คนไข้ต้องปลอดภัย ผลลัพธ์การรักษาดี ได้บริการที่รวดเร็ว บุคลากรการแพทย์ต้องได้ทำงานตามความถนัด และไม่ต้องทำงานที่ไม่จำเป็นเพราะงานเหล่านั้นจะถูกส่งไปหลังบ้านให้คอมพิวเตอร์ทำ แต่ในการ Re-Engineering เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวคงไม่พอค่ะ มันยังต้องการองค์ประกอบทั้งสาม นั่นก็คือ หนึ่ง Peopleก็คือทุกท่านในโรงพยาบาลแห่งนี้ เพราะโรงพยาบาลทุกที่มีปัญหาและบริบทต่างกันไปเราต้องรบกวนท่านเล่าให้เราฟัง ปัญหาและไอเดียอะไรก็ตาม เราจะเอาไปออกแบบให้ สอง Process เพราะSmart Hospital ไม่อาจตั้งอยู่บนกระบวนการทำงานแบบเดิมได้ ซึ่งกระบวนการต่อไปเราจะมาออกแบบร่วมกันก่อนนำไปใช้ อย่างสุดท้ายคือ Technology เอา Process นำก่อนแล้วเทคโนโลยีต่างๆ จะตามมา วันนี้เรา H Lab อยากจะเข้ามาช่วยเป็นพลังงานขับเคลื่อนให้ Smart Hospital มันสำเร็จลงได้”
ภายหลังจากบุคลากรทั้ง 3 ท่านได้แสดงทัศนะแล้ว นายแพทย์ พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ซึ่งให้เกียรติมาเป็นประธานยังได้กล่าวเปิดพิธีลงนามดังนี้ “เชื่อว่าจุดนี้จะเป็นรูปแบบการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโรงพยาบาลสระบุรี ยิ่งถ้าโรงพยาบาลมีระบบการบริหารที่ดีประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยอาจจะขยายไปต่อยอดไปถึงฝันของกระทรวงสาธารณสุขที่เราสามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยตามบ้านโดยเข้าถึงข้อมูลของโรงพยาบาลได้ เชื่อว่าทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ จากการทำงานของ H Lab ที่มุ่งเน้นการพัฒนาร่วมกัน”