สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ
คณะที่ปรึกษาฯ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นโครงการประเมินผลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ในช่วงระยะครึ่งแผน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในช่วงครึ่งของแผนในเบื้องต้นและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ได้มี นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการการประชุม รศ.ดร.ณกร อินทร์พยุง คณบดีคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้กล่าวรายงาน และ รศ.ดร.วิชรินทร์ กาสลัก รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้มอบของที่ระลึกแก่ประธาน และมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ
นายดนุชาฯ กล่าวว่า สศช. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการวางแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพาดำเนินการรวบรวมและติดตามการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 ที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในช่วงระยะครึ่งแรกของแผน สศช. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในภาพรวม
เพื่อประเมินผลการดำเนินแผนงาน/โครงการ รวมทั้งวิเคราะห์ประเด็นปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด และบริบท
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การค้าและเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป ตลอดจนการศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่
ตามนโยบายรัฐบาลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนงาน/โครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 ในช่วงครึ่งหลังของแผนฯ ให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลง และบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของ
แผนฯ ที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับระบบ
โลจิสติกส์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการ การบริการ และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การพัฒนาเพิ่มมูลค่าห่วงโซ่อุปทาน 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และ 3) การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินการลักษณะบรูณาการระหว่างหน่วยงาน และภาคีการพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีผลในทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ