เนื่องในโอกาสวันที่ 20 เมษายน เป็น “วันกัญชาโลก” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีและการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ทางสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดย กรมสุขภาพจิต, กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระ นคร บริษัท เนเจอร์ ไทย วิสดอม จำกัด, มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา, ศูนย์บูรณาการความรู้กัญชา และทีมสอนฝึกอบรมแพทย์กัญชา ร่วมกันจัดงานสัมมนา “แพทย์พบแพทย์ เพื่อกัญชาทางการแพทย์” ขึ้นในวันพุธที่ 20 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน
วันนี้ (20 เมษายน 2565) รศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ความรู้ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยหรือนวัตกรรมใหม่ให้แก่สมาชิกและประชาชน คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้กำหนดจัดการสัมมนาทางวิชาการ “แพทย์พบแพทย์ เพื่อกัญชาทางการแพทย์” โดยจัดร่วมกันระหว่าง บริษัท เนเจอร์ ไทย วิสดอม จำกัดและศูนย์บูรณาการความรู้กัญชา และจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 เพื่อให้สมาชิกของสมาคม และผู้สนใจได้รับรู้ถึงการดำเนินงานของสมาคม ที่ผ่านมาสมาคมได้สนับสนุนและให้ความสำคัญกับพืชสมุนไพรกัญชา เพราะมีประโยชน์ใช้เป็นยาในทางการแพทย์ โดยการสัมมนาวิชาการจะเป็นข้อมูลที่วิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ทางการแพทย์ และการนำไปใช้ประโยชน์ให้ถูกวิธี วิทยากรประกอบด้วย พล.อ.ต.นพ.ไกรสร วรดิถี ผู้อำนวยการทีมสอนฝึกอบรมแพทย์กัญชา นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.วันชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และวิทยากรที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์กัญชาอีกหลายท่าน
นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คำว่า กัญชาเพื่อการแพทย์ ตามข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ FDA นั้นถูกตีความมาจากสารสกัดพื้นฐานจากพืชกัญชา เพื่อนำมารักษาผู้ที่มีปัญหาการเจ็บป่วยที่เข้าเงื่อนไขทางวิชาการ ที่มีการพัฒนาการวิจัยอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายทศวรรษ ซึ่งหลายประเทศได้พัฒนาและนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านเคยกล่าวไว้ว่า เราทราบแล้วว่าสารสกัดในกัญชามีประโยชน์ สิ่งที่กรมฯ ดำเนินการอยู่มีสองส่วน คือ 1. เข้าไปขอร่วมในโครงการวิจัยทางการแพทย์ของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำอยู่ขณะนี้ เพื่อต้องการทราบว่าการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคนั้น มีผลกระทบกับกับโรคทางจิตเวชอย่างไรหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้กัญชาในเมืองไทยยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เลยไม่ได้มีการเก็บข้อมูลทางด้านจิตเวชมากเท่าที่ควร และ 2. กรมฯ จะศึกษาเรื่องการใช้สารสกัดกัญชารักษาอาการสั่นเรื้อรังรักษาไม่หาย ที่เป็นผลมาจากการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชสมัยก่อน และร่วมศึกษาตำรับยาศุขไสยาสน์กับผู้ป่วยจิตเวช ช่วยเรื่องการนอนหลับ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
กล่าวว่า นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า สำหรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขนั้นได้ส่งเสริมให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านไทยได้ การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชา นอกจากสนับสนุนให้มีคุณค่าทางการแพทย์แล้ว ยังสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และใช้เพื่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดประโชน์ต่อการสร้างงาน สร้างเงิน ทั้งในระดับครัวเรือน ระดับวิสาหกิจชุมชน และระดับประเทศ ช่วยทั้งในภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมครอบคลุมถึงการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ การขาย และการตลาด เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เกิดการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และจากการยกระดับกัญชาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปี 2564 ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง ในประเทศมีมูลค่าสูงกว่า 7,000 ล้านบาท แต่ประเด็นของสถานพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมในการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย สำหรับให้บริการผู้ป่วย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และสร้างโอกาสการเข้าถึงตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย จึงเกิดความร่วมมือ ขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนารูปแบบการ นำผลิตภัณฑ์ตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย ไปใช้ใน สถานพยาบาลเอกชน
ทางด้านตัวแทนภาคเอกชน คุณอันชญาน์ อิสรวรางค์กุน ประธาน บริษัท เนเจอร์ ไทย วิสดอม จำกัด กล่าวว่า เนเจอร์ ไทย วิสดอม ได้ทำธุรกิจส่งออกสมุนไพรไทยไปยังต่างประเทศมานานกว่า 10 ปีโดยอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของสมุนไพรไทยที่มีคุณภาพทำให้ทั่วโลกยอมรับ ทั้งนี้กัญชาเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่เราทำงานเชิงวิจัยมีแผนในการที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ทั้งนี้แผนการทั้งหมดได้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว โดย ศูนย์บูรณาการความรู้กัญชา หรือ CKC (Cannabis lntegrated knowledge Center) ภายใต้มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา และ กรมสุขภาพจิตจึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับแพทย์แผนไทยไปสู่ทั่วโลก หากประเทศไทยเราพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องกัญชาสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เชื่อว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่จะนำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล เรียกได้ว่า ขณะนี้การดำเนินการในประเทศไทยมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เกิดขึ้นแล้วอย่างครบวงจร ปัจจุบัน เนเจอร์ ไทย วิสดอม ได้สร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่ากลุ่ม “Green Blood” ซึ่งเป็นการรวมกันของคำว่า Green และ Young Blood โดยคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มองเห็นคุณค่าของสมุนไพร และวัฒนธรรมไทย เช่นเดียวกับ ศูนย์บูรณาการความรรู้กัญชา และมุ่งทำการตลาดไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และตอบแทนสังคมโลก
สำหรับหัวข้อสัมมนาต่าง ๆ ในงาน “แพทย์พบแพทย์ เพื่อกัญชาทางการแพทย์” ประกอบด้วย หัวข้อ “กฎหมายกัญชา และกฎหมายในการใช้กัญชาทางการแพทย์” โดย ดร.รัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา หัวข้อ “การสนับสนุน และผลักดันกัญชาทางการแพทย์” โดย นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา ประธานศูนย์บูรณาการความรู้กัญชา และ คุณอภิสิทธิ์วงศ์จิตรบุญตา เลขาธิการศูนย์บูรณาการความรู้กัญชา หัวข้อ “แพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กับกัญชาทางการแพทย์” นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์
ทางเลือก หัวข้อ “ประสบการณ์และการใช้กัญชาทางการแพทย์สาขาต่างๆ” โดย พลอากาศตรีนายแพทย์ไกรสร วรดิถี ผู้อำนวยการทีมสอนฝึกอบรมแพทย์กัญชา หัวข้อ “ประสบการณ์ และการใช้กัญชาในทางการแพทย์สาขาต่างๆ” โดย นายแพทย์ พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมกระดูกและข้อ หัวข้อ “การปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์” โดย นายมนตรี ทิวาวรชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปลูกกัญชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หัวข้อ “งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาทั่วโลก และการวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ไทย” โดย ดร.สาริศา จิรกุลหุธน นักวิจัย จาก บริษัท เนเจอร์ ไทย วิสดอม จำกัด และ หัวข้อ “การพัฒนากัญชาการแพทย์” โดยวิทยากร บริษัท เนเจอร์ ไทย วิสดอม จำกัด