สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สรุปยอดฉีดวัคซีน โดยศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 พระจอมเกล้าลาดกระบัง ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2564 รวม 10,616 ราย หนุนขับเคลื่อนสถานศึกษาให้พร้อมต่อการเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติโดยเร็ว ขานรับนโยบายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ตั้งเป้าให้บริการวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมชุมชน สถานศึกษาใกล้เคียงจำนวนทั้งสิ้น 130,000 ราย พร้อมย้ำ! มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 อาทิ จัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ กำหนดให้บุคลากรปฏิบัติงานที่บ้าน กำหนดให้ผู้มีความจำเป็นเข้า-ออกสถาบันฯ ต้องผ่านการคัดกรองใน 3 ขั้นตอน ฯลฯ โดยที่ล่าสุด สจล. ได้ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล.
สอบถามข้อมูลการลงทะเบียนขอรับวัคซีนได้ที่ ไลน์ไอดี @KMITLHospital (จิตอาสาหาคำตอบ) หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. http://www.facebook.com/kmitlofficial, www.kmitl.ac.th
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีนโยบายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่กลุ่มนักศึกษาและบุคลากร สู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนสถานศึกษาให้พร้อมต่อการเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติโดยเร็ว โดยได้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์บริการวัคซีนโควิด-19 ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 11 แห่ง ครอบคลุมวัคซีน 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) และล่าสุดกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ได้รับการจัดสรรจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่นกัน ทั้งนี้ จากการจัดตั้ง “ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 พระจอมเกล้าลาดกระบัง” กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ตั้งเป้าจำนวนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับวัคซีนจำนวน 130,000 โดส ครอบคลุม สจล. และสถานศึกษาใกล้เคียงอย่าง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และอื่น ๆ
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. ได้เปิดให้บริการ “ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล.” หนึ่งในจุดกระจายวัคซีนนอกโรงพยาบาล สู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่กลุ่มนักศึกษาและบุคลากร อีกทั้งยังมีแผนขยายผลไปยังกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณะในพื้นที่ สจล. และบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าให้บริการวัคซีนครอบคลุมนักศึกษาและบุคลากรที่มีกว่า 3 หมื่นราย ซึ่งล่าสุด จากรายงานสถานการณ์ยอดผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2564 มีจำนวนสะสมแล้วกว่า 10,616 ราย แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 จำนวน 8,454 ราย และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 จำนวน 2,162 ราย
อย่างไรก็ตาม สจล. มีนโยบายคุมเข้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ มาตรการสำหรับนักศึกษา จัดให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง มาตรการสำหรับบุคลากร กำหนดให้ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) ตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง มาตรการสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นเข้า-ออก สถาบันฯ ต้องผ่านการคัดกรอง 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. ทำแบบประเมินความเสี่ยงทุกครั้งก่อนเข้าสถาบันฯ ผ่านเว็บไซต์ https://gofight.kmitl.ac.th 2. ต้องตรวจวัดอุณหภูมิและแสดงผลการประเมินความเสี่ยง ต่อเจ้าหน้าที่ประจำอาคาร 3. สแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่จัดแสดงไว้ประจำทุกอาคารในการลงทะเบียนเข้า-ออก ทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทำความสะอาด และไม่อนุญาตให้จัดโครงการหรือกิจกรรมภายในสถาบันฯ
ทั้งนี้ การเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล. ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และคณะผู้บริหาร จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุญนาค) สจล. สอบถามข้อมูลการลงทะเบียนขอรับวัคซีนได้ที่ ไลน์ไอดี @KMITLHospital (จิตอาสาหาคำตอบ) หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. http://www.facebook.com/kmitlofficial, www.kmitl.ac.th