ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม ให้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อช่วยรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นผู้ผลิต และในวันเดียวกันนี้ยังส่งมอบให้แก่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม ให้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564 เพื่อช่วยรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในวันเดียวกันยังมีการส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบฯ นี้ให้แก่ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดย รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า “ขอชื่นชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ในฐานะผู้ให้ และโรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งปกติเป็นผู้ให้ แต่วันนี้มาเป็นผู้รับเพื่อนำไปช่วยผู้ป่วยอีกที ปกติแล้วสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จะทำเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ในยามจำเป็นก็สามารถปรับเปลี่ยนมาทำเทคโนโลยีขั้นกลางได้อย่างรวดเร็ว อย่างห้องแยกโรคความดันลบ ที่มีต้นทุนต่ำมากในราคาประมาณแค่ 1 แสนบาท ซึ่งถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ นอกจาก อว. จะเป็นกองหนุนให้กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลในการช่วยรับมือโควิด-19 ทั้งการระดมโรงเรียนแพทย์กว่า 22 แห่งมาเป็นด่านหน้าในการรักษาผู้ป่วย การสร้างโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ของ อว. แล้วยังผลิตนวัตกรรมอีกมากมายมาช่วยรับมือ เช่น หน้ากาก N95, ชุดหมี PPE, หน้ากากความดันบวกสำหรับบุคลากรการแพทย์ PAPR, ระบบเอกซเรย์ภาคสนามเคลื่อนที่ ถ้ามองในแง่บวก โควิด-19 ทำให้ อว.มั่นใจมากขึ้นว่าเราสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่มาปรับใช้ได้อย่างทันท่วงทีในช่วงสถานการณ์คับขันเช่นนี้ ที่สำคัญยังชี้ให้เราเห็นว่า ปัญหาไม่ได้ทำให้เราท้อแท้แต่กลับทำให้เราเข้มแข็งและเติบโตขึ้นได้”
ด้าน รศ.ดร.สาโรช กล่าวว่า “ห้องแยกโรค ความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม ผลิตโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเป็นผลผลิตหนึ่งที่ได้จากการสะสมองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ เทคโนโลยีระบบควบคุม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากว่า 20 ปี ส่วนประกอบห้องแยกโรค ความดันลบฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ห้องความดันลบสำหรับเตียงผู้ป่วย และห้องเข้า-ออกสำหรับแพทย์และพยาบาล ซึ่งความดันภายในห้องจะต่ำกว่าความดันบรรยากาศ และมีระบบกรองอากาศ HEPA filter เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอก โดยปัจจัยในการออกแบบและสร้างต้นแบบห้องแยกโรคความดันลบ จะคำนึงถึง การใช้งานได้จริง ได้มาตรฐาน ความสะอาด ปลอดภัย ราคาไม่แพง และสะดวกในการประกอบ ติดตั้ง เคลื่อนย้าย และการดูแลรักษา โดยต้นทุนการผลิตห้องแยกโรคความดันลบฯ ประมาณ 100,000 บาท สามารถผลิตได้โดยใช้ช่างฝีมือท้องถิ่น โดยสถาบันฯ สนับสนุนแบบผลิตทางวิศวกรรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/2RfSqpT”
หลังจากนี้จะมีการส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบฯ ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ต่าง ๆ รวม 15 ชุด ได้แก่ โรงพยาบาลปากช่องนานา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา โรงพยาบาลพิมาย โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร การส่งมอบห้องแยกโรคความดันลบฯ นี้ เป็นไปตามโยบายของกระทรวง อว. ที่ให้หน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผลิตและจัดหานวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงและมีสายการผลิตที่ชัดเจน ทำได้อย่างรวดเร็ว และขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรด่านหน้า นอกจากนี้ยังเป็นอีกตัวอย่างที่สถาบันฯ สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยประเทศรับมือสถานการณ์วิกฤติได้ รวมทั้งเป็นการสร้างช่องทางกระจายรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อให้โรงพยาบาลและชุมชนสามารถมีทางเลือกพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี