รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมและร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562 เน้นการเปิดใจพูดคุยรับฟังกัน พร้อมพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มจำนวนคู่สายมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 10 คู่สาย เป็น 20 คู่สาย เพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในสังคมไทย
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม และร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562 (World Mental Health Day 2019 : Talk to ME) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพมหานคร ว่า วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดธีมในปี 2019 นี้ คือ Working Together to Prevent Suicide เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในทุกภาคส่วน จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนคนไทยอย่างมหาศาล โดยในประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,000 รายต่อปี และในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 ราย ซึ่งแม้จะมีอัตราไม่ได้สูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต มีความพยายามที่จะลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต ตลอดจนการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้เหลือน้อยลงมากที่สุด ซึ่งได้มีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้น และได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ มากมาย ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิต เพื่อช่วยให้สังคมไทยมีสุขภาพจิตที่ดี ตลอดจนสร้างทักษะพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการพูดคุยรับฟังกันในครอบครัวและสังคม นับเป็นการปลุกกระแสสังคมให้หันมาสร้างทักษะการรับฟังกันมากยิ่งขึ้น โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ร่วมจัดกิจกรรม “Let Me Hear You” สร้างจิตอาสาผู้ฟังที่ดีเข้าสู่สังคม และกิจกรรม “หัวใจมีหู” เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกไปแล้ว ซึ่งนับเป็นการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ธีมงานในวันนี้ ที่ใช้ชื่อว่า “Talk to ME” แปลตรงตัวว่า มาคุยกับฉัน ฉันพร้อมจะรับฟังเธอ เนื่องจากเราต้องการสร้างให้คนไทยเป็นผู้รับฟังที่ดีแล้ว เราก็ยังสนับสนุนให้คนไทยหยิบยื่นความช่วยเหลือออกไปสู่สังคมด้วยเช่นกัน อีกทั้ง คำว่า “ME” ในที่นี้ ย่อมาจากคำว่า “Mental Health Education” หรือ การสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพจิตให้กับทุกคนในสังคมไทย โดยผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรับฟังที่ดีและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน จึงสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดยจะมีการเพิ่มจำนวนคู่สายมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 10 คู่สาย เป็น 20 คู่สายในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มทำการพัฒนาทั้งบุคลากรและระบบทันที เพื่อรองรับการให้บริการที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนช่วยให้ประชาชนได้รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่มีคุณภาพและรวดเร็ว จะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้นต่อไป
“ขณะนี้ น่าเป็นห่วงเยาวชนกลุ่มวัยรุ่นมาก เนื่องจากที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องประสานกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมสุขภาพจิต เพื่อจัดทำโครงการดูแลสุขภาพจิตให้ครอบคลุมในทุกกลุ่ม โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการการรับฟังมากขึ้น ดังนั้น ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะทำหน้าที่พี่เลี้ยงในการส่งนักสุขภาพจิต ไปช่วยให้คำแนะนำวิธีการสังเกตอาการของเด็กที่อยู่ในภาวะปัญหาสุขภาพจิต” ดร.สาธิตกล่าว
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วยการเสวนา ME Film สุขภาพจิตบนแผ่นฟิล์ม เป็นงานเสวนาที่กรมสุขภาพจิตร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจัดขึ้น ในแง่มุมของการใช้สื่อภาพยนตร์ให้เป็นสื่อกลางในการส่งต่อความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิต เพื่อเผยแพร่กระจายออกไปสู่สังคมวงกว้าง ซึ่งสื่อภาพยนตร์นั้นในเชิงจิตวิทยาสามารถส่งผลต่อจิตใจของผู้รับชมได้ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง อาทิ คุณนนทรีย์ นิมิบุตร, คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว, คุณบัณฑิต ทองดี และกิจกรรม ME Talk : ม้านั่งสีขาวกับเรื่องราวของฉัน ตอน “9.55 เวลาชีวิต” นับเป็นงาน Talk สุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย โดยการสื่อสารถ่ายทอดเรื่องราวด้านสุขภาพจิตของผู้พูด ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย คล้ายกับการเล่าเรื่องราวอยู่บนม้านั่งในสวนสาธารณะที่ร่มรื่น จากบุคคลสำคัญในหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต, น้องเกรซ นรินทร Miss Thailand World 2019 และ คุณกอล์ฟ เทยเที่ยวไทย รวมทั้งภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพจิตและจิตเวช บูทกิจกรรม “Food Therapy” “Art Therapy” “Street side Listener” และ “ME Sharing” อีกด้วย