ยูนิเซฟจับมือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดตัวแคมเปญ #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการหยุดยั้งความรุนแรงต่อเด็กขอให้ประชาชนตื่นตัวและรีบแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ซึ่งเป็นสายด่วนของรัฐ เมื่อพบเห็นเด็กถูกกระทำรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งนี้ กระทรวงพม. ได้ให้บริการสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับแจ้งปัญหาสังคมต่าง ๆ รวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก การทอดทิ้งเด็ก และการแสวงประโยชน์จากเด็ก
โดยศูนย์ฯ จะรับแจ้งและให้การช่วยเหลือเด็กในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต การประสานส่งต่อเด็กไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การให้คำปรึกษาแนะนำแก่เด็กและครอบครัว และการติดตามผล จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล 622 แห่งในประเทศไทย พบว่า มีเด็กเกือบ 9,000 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะเดียวกัน ผลสำรววจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี จำนวนร้อยละ 4 หรือคิดเป็นประมาณ 470,000 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากที่บ้าน ในขณะที่แต่ละปี กลับมีผู้แจ้งเหตุรุนแรงต่อเด็กผ่านสายด่วน 1300 เพียงแค่ 3,266 ราย นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความรุนแรงส่งผลให้เด็กจำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่กับฝันร้ายวันแล้ววันเล่า แต่ฝันร้ายเหล่านั้นหยุดได้ ถ้าประชาชนที่สงสัยหรือพบเห็นเด็กถูกกระทำรุนแรงเข้าไปขัดขวางหรือยกหูโทรศัพท์เพื่อแจ้งเหตุ” การศึกษาทั่วโลกของยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นในทุกช่วงอายุของเด็กและเกิดในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือสถานที่ที่เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้ โดยมักกระทำโดยบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่มักไม่เป็นที่รับรู้หรือไม่มีการรายงาน โดยความรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจไปตลอดชีวิต และยังทำลายการพัฒนาโครงสร้างทางสมองของเด็ก บั่นทอนความสามารถในการเรียนรู้ และอาจส่งผลให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล การทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ความรุนแรงต่อเด็กเป็นประเด็นที่มีผลกระทบทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การจะยุติความรุนแรงต่อเด็กได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆคนในสังคม ในการที่จะไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงทุกรูปแบบ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ คือการแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นหรือสงสัยว่ามีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งนี้เด็กไม่สามารถปกป้องคุ้มครองตนเองได้ และต้องอาศัยทุกคนในสังคมช่วยกันดูแล” แคมเปญ #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต เปิดตัวด้วยคลิปวิดิโอความยาว 4 นาที http://bit.ly/evac-2019-01 ซึ่งจำลองเหตุการณ์ในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่พ่อลงโทษลูกสาวอย่างรุนแรง ทั้งด่าทอหยาบคาย และลงมือทำร้ายร่างกายลูกจนมีรอยบาดเจ็บฟกช้ำตามตัว คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นปฏิกิริยาของลูกค้าที่อยู่ในร้าน โดยหลายคนแสดงความเป็นห่วงและกังวลต่อสวัสดิภาพของเด็กอย่างชัดเจน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กได้อย่างไร แคมเปญนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ตลอดจนบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของผู้ที่เคยแจ้งเหตุ และเสียงของเด็กที่เคยถูกทำร้าย และยังมี ศิลปินชื่อดัง แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล แห่งวง Got 7 มาร่วมเป็นกระบอกเสียง นอกจากนี้ยังเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถทำได้ เช่น จัดทำสติกเกอร์ โปสเตอร์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวในชุมชน นายดาวิน กล่าวทิ้งท้ายว่า “เด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเพื่อให้มีวัยเด็กที่ปลอดภัยและเป็นสุข โดยไม่ควรมีเด็กคนใดต้องใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดกลัว เราอยากเรียกร้องให้ทุกคนตื่นตัวในการปกป้องคุ้มครองเด็กก่อนที่จะสายเกินไป เพราะทุกคนต่างมีส่วนสำคัญในการยุติความรุนแรงต่อเด็กในสังคม”