โรคปอดอักเสบ เป็นโรคที่มีการอักเสบของเนื้อปอด ซึ่งประกอบไปด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบมีอาการบวมขึ้น ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลงส่งผลอาการหายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ในบางรายผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งถ้าตรวจพบในระยะแรกเริ่มจะสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งอาการแสดงและความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไป และบางครั้งอาจพบปอดอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ด้วย
โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอกเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดส่องกล้องโรงพยาบาลวชิรพยาบาล สำหรับปอด เป็นอวัยวะในระบบทางเดินหายใจที่อยู่ภายในทรวงอกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อหยุ่นๆ สีออกชมพู มีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศที่เราหายใจเข้าไป คือ ในช่วงหายใจเข้าปอดจะทาหน้าที่นาก๊าซออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกาย และในขณะเดียวกันปอดจะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการออกมากับลมหายใจ ปกติเนื้อปอดจะเป็นอวัยวะที่ปราศจากเชื้อโรค เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เข้าไปถึงเนื้อปอดจะส่งผลให้เนื้อปอดมีการอักเสบและมีการบวมเกิดขึ้น ในคนที่มีสุขภาพดีร่างกายจะมีระบบภูมิต้านทานโรคที่ดีที่จะช่วยขจัดเชื้อโรค และของเสียในทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือที่เรียกว่าการไอนั้นเอง แต่ในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันลดลง หากปอดติดเชื้อก็จะเกิดปอดอักเสบได้ง่ายขึ้นและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ได้แก่
1. อายุ ในผู้สูงอายุจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของอวัยวะและเซลล์จะเสื่อมสภาพลง อีกทั้งหากรับประทานอาหารและพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งผู้สูงอายุมักโรคร่วมหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบได้มากกว่าคนปกติ
2. การสูบบุหรี่หรือสัมผัสควันบุหรี่ ควันไฟ ทำให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบของถุงลมในปอด ส่งผลทำให้กลไกการต้านทานของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจลดประสิทธิภาพลง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้ง่าย
3. การดื่มสุรา จะส่งผลทำให้รู้สึกตัวลดน้อยลง มีอาการมึนเมา เวลารับประทานอาหารหรือนอน อาจทำให้เกิดการสำลักอาหารเข้าปอดได้ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา นอกจากนี้ในรายที่ดื่มสุราเป็นประจำ อาจก่อให้เกิดโรคตับแข็ง ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายน้อยกว่าปกติ
4. การมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคเอดส์ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยที่ยาบางตัว เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคมะเร็งหรือยาเคมีบำบัดเป็นประจำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคและการกำจัดเชื้อโรคน้อยลง ส่งผลทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ในส่วนของอาการแสดงของโรคปอดอักเสบนั้น ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อยเป็นสำคัญ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่าง โดยอาการที่เราจะสงสัยภาวะปอดอักเสบนั้น ซึ่งมีรายละเอียดทั้ง 10 ข้อ ดังนี้ 1.ไข้ มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือมีไข้ตัวร้อนตลอดเวลา 2.อาจมีอาการหนาวสั่นมาก มักจะพบขณะมีไข้ 3.อาการหอบเหนื่อย ผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว อาจจะมีการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อช่วยหายใจ 4. ถ้าเป็นมากจะมีอาการปากเขียว ตัวเขียว 5.มีอาการไอ โดยเสมหะ อาจมีขาวขุ่นหรือเป็นหนองได้ 6.มีอาการเจ็บหน้าอก อาจเจ็บแปล๊บเวลาหายใจเข้าหรือเวลาที่ไอแรง ๆ 7. ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ เนื่องจากมีไข้ 8. ผู้ป่วยอาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย 9. ผู้ป่วยอาจมีอาการซึม สับสน และ 10. ผู้ป่วยมีประวัติสำลักอาหาร
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคในช่องทรวงอก สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ เพจ เฟซบุ๊ก “ผ่าตัดปอดโดยหมอศิระ” หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ lineofficial : @lungsurgeryth
Post Views: 165