กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กระตุ้นความสูงเด็กวัยเรียน แนะกินอาหารมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกเป็นประจำ และพักผ่อนเพียงพอต่อวัน พร้อมจับมือเขตสุขภาพที่ 3 จัดมหกรรมกระโดดเชือก เพื่อย้ำพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ส่งเสริมเด็กวัยเรียนสูงดี สมส่วน
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมกระโดดเชือกเด็กวัยเรียน เขตสุขภาพที่ 3 นครสวรรค์ ว่า จากระบบรายงาน Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 พบเด็กวัยเรียน 6 – 14 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 8.8 ซึ่งเป้าหมายของประเทศกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 5 จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนยังไม่ดีเท่าที่ควร คือมีส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์ในเด็กที่มีอายุเท่ากัน โดยตั้งเป้าหมายให้ปี 2564 เด็กผู้ชายอายุ 12 ปี มีส่วนสูงเฉลี่ย 154 เซนติเมตร เพิ่มจากค่าเฉลี่ยความสูงปัจจุบันคือ 148.6 เซนติเมตร ส่วนเด็กผู้หญิงอายุ12 ปี มีส่วนสูงเฉลี่ย 155 เซนติเมตร เพิ่มจากค่าเฉลี่ยความสูงปัจจุบันคือ 149.9 เซนติเมตร ขณะที่ข้อมูลส่วนสูงระดับเขตสุขภาพที่ 3 พบว่าเด็กผู้ชายมีความสูงเฉลี่ย 147.3 เซนติเมตร และเด็กผู้หญิงมีความสูงเฉลี่ย 148.6 เซนติเมตรตามลำดับ เนื่องจากช่วงเวลาทอง (Golden period) ของเด็กในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth spurt) ของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะแตกต่างกัน โดยเด็กผู้หญิงจะเริ่มในช่วงอายุ 9 – 10 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 12 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 16 – 18 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่ ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่ม ในช่วงอายุ 10 – 12 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 14 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูง จะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 18 – 20 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่
“ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสูงคือการเจริญเติบโตของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกกลุ่ม long bone และการปิดของบริเวณ growth plate การที่เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะกระตุ้นให้มีการหลั่งของ growth hormone และ growth factor รวมทั้งการกระตุ้นโดยตรงต่อกระดูก ทำให้เพิ่มการสร้างกระดูกมากขึ้น จึงต้องส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ครบ 5 หมู่ เลือกประเภทที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว หมั่นออกกำลังกายชนิดที่ช่วยเพิ่มความสูง เช่น กระโดดเชือก โดยทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่าครั้งละ 10 – 15 นาที ทุกวัน ๆ ละ 60 นาที หรือทำแบบสะสมเวลา ร่วมกับการนอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 8 – 10 ชั่วโมง จะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพและเพิ่มความสูงได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า การกระโดดเชือกเป็นกิจกรรมแอโรบิกชนิดหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิต พัฒนาศักยภาพของหัวใจ ช่วยลดไขมัน ในร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มมวลกระดูก เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ จึงได้ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 3 จัดมหกรรมกระโดดเชือกเด็กวัยเรียนในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างกระแส และสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้ร่วมกันส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนสูงดี สมส่วน เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดยมีนักเรียนในพื้นที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 600 คน