กรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยสภาพจิตใจของประชาชน ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้เกิดสภาวะเครียด เหตุจากน้ำท่วมนาน บ้านเรือนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ข้าวของเครื่องใช้เสียหายและสูญหาย แนะวิธีจัดการกับความเครียด
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี ร่วมกับทีมเอ็มแคท (MCATT) กรมสุขภาพจิต ในเขตชุมชนกุดระงุม ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ และชุมชนท่าบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และเข้าร่วมประชุม Video Conference สรุปการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีวาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม จากพายุโพดุลและคาจิกิ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ ได้นำเงินช่วยเหลือจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน มอบเป็นกำลังใจให้ชาวอุบลราชธานี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 100,110 บาท รวมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมบ้านบุคลากรโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยได้ให้กำลังใจ มอบถุงยังชีพและปัจจัยให้กับบุคลากร เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 โดยกล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมขณะนี้ โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ มีแนวโน้มที่น้ำจะท่วมยาวนาน บ้านเรือนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ข้าวของเครื่องใช้เสียหายและสูญหาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนอาจเกิดสภาวะเครียด วิตกกังวล และมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ส่งทีมปฏิบัติงานช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤตหรือทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ร่วมลงพื้นที่ให้การดูแลสภาพจิตใจร่วมกับทีม MCATT ระดับอำเภอและจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรายงานว่า มีทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทร่วมลงพื้นที่แล้ว ทั้งหมด 42 ทีม ในช่วงระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 15 กันยายน 2562 ได้แก่ จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สกลนคร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และมุกดาหาร โดยได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจแก่ประชาชน การปฐมพยาบาลทางใจ การให้คำแนะนำในเรื่องการสังเกตอาการผิดปกติทางสุขภาพจิต กิจกรรมผ่อนคลายความเครียด มีการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น ในประเด็นเครียด เสี่ยงซึมเศร้าฆ่าตัวตาย และให้การวินิจฉัยและรักษา ซึ่งผลการให้บริการสุขภาพจิต มีจำนวนผู้ประสบภัยเข้ารับการประเมินคัดกรองภาวะสุขภาพจิต รวม 21,442 ราย พบ เครียดมาก 776 ราย ซึมเศร้า 89 ราย ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 193 ราย และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 19 ราย ได้มีการติดตามประเมินซ้ำ พบว่า ยังมีความเครียดสูง แต่ไม่มีความคิดทำร้ายตนเอง จำนวน 3 ราย ซึ่งในรายที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง จะส่งต่อให้พบแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน และออกหน่วยติดตามเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ในรอบ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน หรือจนกว่าจะหมดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า หากพบเจอกับสถานการณ์วิกฤตในชีวิต โดยทั่วไปความเครียดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งในแต่ละคนจะมีระดับความเครียดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการและการปรับตัวกับความเครียดที่เกิดขึ้น ดังนั้น เราต้องรู้จักวิธีการคลายความเครียดให้เป็น กรมสุขภาพจิต จึงขอแนะนำ 9 วิธีจัดการกับความเครียด ดังนี้ 1. สังเกต หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมเวลาที่มีความเครียด 2. ทำกิจกรรม โดยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ท่องเที่ยว สังสรรค์ ทำบุญ เล่นดนตรี เป็นต้น 3. ฝึกทักษะ เช่น การสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ 4. ชวนพูดคุย ระบายความรู้สึก ความทุกข์ในจิตใจ ผู้ฟังรับฟังอย่างตั้งใจและให้กำลังใจกัน 5. ผ่อนคลาย การผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีที่คุ้นเคย เช่น คลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจ ทำสมาธิ 6. หาวิธีแก้ปัญหา หากรู้ว่าเครียดจากปัญหาใด ให้พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นโดยเร็ว 7. คิดบวก ปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ มุมมองจากแง่ลบเป็นแง่บวก 8. สร้างบรรยากาศ จัดสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวให้สบายตาเป็นระเบียบ น่าอยู่ และ 9. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ความเครียดที่เกิดขึ้นในเด็กก็ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยมีข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลจิตใจบุตรหลานผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้สังเกตจากอาการและพฤติกรรม ซึ่งอาจจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง หลับยาก สมาธิสั้น โกรธง่าย หงุดหงิด ก้าวร้าว ดังนั้น ให้พ่อแม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำ 6 ประการ เพื่อลดความเครียดในเด็ก ดังนี้ 1. เปิดโอกาสให้เด็กพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและถามคำถามกับผู้ปกครอง 2. อธิบายให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ด้วยคำพูดที่ง่าย 3. เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเอง ความกลัว ความวิตกกังวลต่างๆ โดยให้เด็กทราบว่า การมีความรู้สึกแย่ๆ ในช่วงประสบภัยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และการระบายให้คนรอบข้างฟังเป็นเรื่องที่ดี 4. พูดคุยเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินของครอบครัว หน้าที่ของแต่ละคนในครอบครัว ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติต่างๆ ในอนาคต 5. ระมัดระวังการกล่าวโทษว่า เป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง พยายามให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และ 6. ให้เด็กพยายามมองหาข้อดีที่มีอยู่ในสถานการณ์วิกฤต เช่น คนที่เป็นฮีโร่ช่วยเหลือผู้อื่น ครอบครัวที่เข้มแข็ง การมีน้ำใจของชุมชนที่ช่วยเหลือกัน เป็นต้น อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว