กรมควบคุมโรค เผยช่วงนี้อากาศเย็นลง จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แนะผู้ปกครองพาบุตรหลาน โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กที่มีโรคประจำตัวอายุ 6 เดือน – 4 ปี เข้ารับวัคซีนโควิด 19 รวมทั้งกลุ่มเสี่ยง 608 เร่งเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิต พร้อมแนะมาตรการป้องกันตนเอง จากโรคโควิด 19
วันนี้ (2 ธันวาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้พบผู้ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากอากาศเริ่มเย็นลง และมีการเปิดเทอม รวมถึงมีวันหยุดยาว ประชาชนจึงเดินทางออกไปทำกิจกรรมต่างๆ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 20 – 26 พฤศจิกายน 2565 รายงานผู้ป่วยโควิด 19 รวม 4,914 ราย เฉลี่ย 702 รายต่อวัน มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 319 ราย และผู้เสียชีวิต 74 ราย เฉลี่ย 10 รายต่อวัน
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า ในกรณีมีรายงานข่าวเด็กอายุ 6 ขวบ ติดเชื้อโควิด 19 และเสียชีวิตที่จังหวัดนครราชสีมานั้น กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่าผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ประกอบกับไม่ได้รับวัคซีนโควิด 19 จึงทำให้มีอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในเขตสุขภาพที่ 9 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ (5 เมษายน – 11 พฤศจิกายน 2565) พบว่า ประชาชนฉีดเข็มที่ 1 (ร้อยละ 75.56) เข็มที่ 2 (ร้อยละ 71.3) เข็มที่ 3 (ร้อยละ 33.8) เข็มที่ 4 (ร้อยละ 5) จึงขอแนะนำกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือนแล้ว เข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว รวมทั้งพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลศูนย์ได้ทุกวัน รวมทั้งจุดฉีดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา ชั้น 4 วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวการฉีดวัคซีนได้ที่ Facebook fanpage : โรงพยาบาลมหาราช
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กที่ไม่ฉีดวัคซีนเมื่อติดโควิดมีโอกาสป่วยหนักเนื่องจากเกิดกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบของอวัยวะภายในในเด็ก (Multisystem inflammatory syndrome in children: MIS-C) จนมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่วัคซีนสามารถป้องกันภาวะการป่วยนี้ได้ จึงขอให้ผู้ปกครองรีบพาบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีนโดยเร็ว ทั้งเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี (วัคซีนฝาสีแดง) และอายุ 5-11 ปี (วัคซีนฝาสีส้ม) เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันในช่วงฤดูหนาวที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และขอย้ำว่า วัคซีนสำหรับเด็กเล็กฝาสีแดงมีประสิทธิภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ยังไม่พบเด็กมีอาการแพ้วัคซีนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ขอแนะนำมาตรการป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 ดังนี้ 1) ประชาชนควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบ 4 เข็ม ซึ่งสามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2) กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว สามารถรับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting Antibodies; LAAB) ซึ่งจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีหลังฉีด 3) สำหรับผู้ที่ไปทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้สูงอายุที่ยังไม้ได้ฉีดวัคซีน 4) กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว ให้งดทานข้าวร่วมกับผู้อื่น หรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากาก 5) ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และรถโดยสารขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเมื่ออยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422