สถานการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่มจำนวน 21 ราย และคาดว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พร้อมเฝ้าระวังป้องกันในช่วงเดือน Pride month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นตลอดเดือน มิถุนายนนี้ ทั่วประเทศไทย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรวม 43 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่โรคนี้ป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ประชาชนสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หรือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือ ผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือ มีผื่น/ตุ่มสงสัย ดังนี้ 1. มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ทางช่องทางดังต่อไปนี้ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ปาก 2. ทำความสะอาดห้องหรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยสงสัยหรือ ผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะผู้ป่วยมีอาการ 3. เคยดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น บริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ เจ็บคอ คัดจมูก หรือ ไอ มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก หากมีอาการให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือ โรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที พร้อมแนะนําวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร เช่น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รวมทั้งแนะนําให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคขอความร่วมมือ เครือข่ายที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เช่น รพ. รพสต. คลินิกเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม สถานประกอบการสุขภาพ ประเภทสปา เป็นต้น ในการประชาสัมพันธ์ความรู้ และคำแนะนําในการสังเกตอาการโรคฝีดาษวานรสำหรับประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการป้องกันโรคฝีดาษวานรแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงร่วมดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคฝีดาษวานร ตามแนวทางเฝ้าระวังสอบสวนโรคและควบคุมการระบาดโรคฝีดาษวานร สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
Post Views: 150