กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุแรกเกิด – 6 ปี ให้เลือกที่นั่งนิรภัย (คาร์ซีท) เพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก และเป็นการลดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนขณะโดยสารในรถยนต์
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่13) พ.ศ.2565 มาตราที่ 123 ระบุไว้ว่าคนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) พบว่ามีเด็กอายุแรกเกิด – 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 ราย ในจำนวนนี้มี 221 ราย เป็นเด็กที่เสียชีวิตขณะโดยสารรถยนต์ (เฉลี่ยปีละ 44 ราย) และจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) พบว่ากลุ่มเด็กอายุแรกเกิด – 6 ปี ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีการใช้เบาะนิรภัยเพียงร้อยละ 3.46%
“องค์การอนามัยโลก สนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 70 และในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2560 มีมติเห็นชอบ 12 เป้าหมายโลก สำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน โดยในเป้าหมายที่ 8 กำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารยานยนต์หรือใช้อุปกรณ์รัดตึงนิรภัยสำหรับเด็ก ที่ได้มาตรฐานให้ใกล้เคียงร้อยละ 100” นายแพทย์โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ในการเลือกที่นั่งนิรภัยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ได้แก่ 1) ควรจัดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และใช้งานอย่างถูกวิธีตลอดเวลาที่โดยสารรถยนต์ 2) เลือกรูปแบบคาร์ซีท และติดตั้งให้เหมาะสมตามช่วงอายุ สรีระ น้ำหนัก ส่วนสูงของเด็ก โดยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กแรกเกิด-3 ปี ควรใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ ซึ่งจะปลอดภัยมากที่สุด หรือเด็กที่มีอายุ 2-6 ปี สามารถใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าได้ ส่วนเด็กที่เริ่มโต ควรใช้บูสเตอร์ซีท เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าใช้ร่วมกับเข็มขัดนิรภัยปกติ 3) มีมาตรฐานความปลอดภัย จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ กรณีเลือกใช้ที่นั่งนิรภัยมือสอง ควรสำรวจสภาพไม่มีรอยบุบหรือแตก สายรัดหรือเข็มขัดมีสภาพดี และอายุการใช้งานไม่ควรเกิน 6 ปี 4) อ่านคำแนะนำการใช้การติดตั้งอย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และ 5) สำหรับรถเก๋ง ควรติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เบาะหลัง ไม่ควรติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เบาะด้านหน้าข้างคนขับ เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กอาจโดนกระแทกจากถุงลมนิรภัยได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422